เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2560 ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าว “งานชราชนม์ คนคุณภาพ กับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคของผู้สูงอายุ โดยมุ่งหวังให้ผู้สูงวัยทุกคนได้ใช้ชีวิตในวัยชราอย่างมีคุณภาพและมีความสุขที่สุด
โดยทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ มีความพร้อมในการเตรียมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยในอนาคต ด้วยการจัดสร้าง “อาคาร ส.ธ.” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการดูแลรักษาโรคในผู้สูงอายุแบบบูรณาการและครบวงจรทุกๆ ด้าน พร้อมรองรับในการดูแลรักษาโรคเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นอีกด้วย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานในการจัดงาน กล่าวถึงการจัดงานว่า
“ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และเรากำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2568 ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าว และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการดูแลรักษาเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ
จึงดำเนินการสร้างอาคารเพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรขึ้น โดยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2558 โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนม์มายุ 60 พรรษา และได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารนี้ว่า “อาคาร ส.ธ.” ถือเป็นศูนย์การดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือแพทย์ทันสมัย และการบริหารจัดการที่เอื้อต่อการให้บริการผู้สูงอายุอย่างแท้จริง
ในการนี้จึงได้มีการจัดงาน “ชราชนม์คนคุณภาพ กับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” ในวันจันทร์ที่ 22 ถึง วันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2560 ณ โถงชั้น 1 อาคาร ส.ธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ความรู้ในเรื่องพัฒนาการทางการแพทย์และดูแลผู้สูงอายุในทุกๆด้าน เป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน การดูแลรักษา และฟื้นฟูภาวะต่างๆของผู้สูงอายุ เมื่อเกิดโรค เพื่อให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตใน
วัยชรา อย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพ เต็มไปด้วยความสุขอย่างแท้จริง โดยภายในงานแต่ละวันมีกิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย ได้แก่ การบริการตรวจคัดกรองสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย การจัดนิทรรศการ จัดเวทีเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคภัยที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงวัย การออกบูธต่างๆของหน่วยงานภายในโรงพยาบาลและหน่วยงานภายนอก รวมถึงการแนะนำหลักสูตร / การจัดอบรมการดูแลผู้สูงวัยอย่างถูกวิธี
ในส่วนของการบริการทางการแพทย์ที่จัดให้บริการตรวจรักษาฟรีแก่ผู้สูงอายุที่มาร่วมงาน “ชราชนม์คนคุณภาพ กับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” วันที่ 22-24 พ.ค. 60 นางศิริลักษณ์ สิโยพุทธวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ด้านบริการ กล่าวว่า
“การให้บริการทางการแพทย์ตรวจรักษาฟรีแก่ผู้มาร่วมงาน“ชราชนม์คนคุณภาพ กับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” วันที่ 22-24 พ.ค.60 ภายในงาน เราจะมีการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ
ก่อนเตรียมเข้าสู่การตรวจรักษาพยาบาล ซึ่งถือเป็นการตรวจสุขภาพเชิงรุก โดยจัดให้มีการประเมินภาวะสุขภาพเบื้องต้น และคัดกรองสุขภาพด้านต่างๆ เช่น วัดความดันโลหิต หาค่าดัชนีมวลกาย(BMI) ประเมินภาวะความเสี่ยงโรคมะเร็งในผู้สูงอายุ
การประเมินภาวะความเสี่ยงของอวัยวะต่างๆ เช่น หู กระดูก ข้อ สมองเสื่อม และภาวะซึมเศร้า การตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ ( Fibroscan) พร้อมทั้งมีการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ รวมถึงมีการส่งต่อผู้สูงอายุหลังการคัดกรองที่ต้องการรักษาเฉพาะทางไปยังคลินิกหรือศูนย์ต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับความสะดวกสบายในการดูแลรักษาแบบครบวงจรอย่างแท้จริง”
และทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีความพร้อมในการดูแลรักษาและป้องกันกลุ่มอาการเฉพาะในผู้สูงอายุ ด้วยศักยภาพของศูนย์การรักษา อาคาร ส.ธ. และคลินิกสุขภาพที่พร้อมดูแลรักษาผู้สูงอายุแบบองค์รวม เพื่อเสริมสร้างให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตในทุกด้านอย่างมีความสุข
ในเรื่องนี้ ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ด้านวิจัยและศูนย์ความเป็นเลิศ กล่าวว่า “คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี อาคาร ส.ธ. ชั้น 4 เป็นคลินิกสหสาขาที่มีบทบาทเพื่อเป็นต้นแบบการดูแลรักษาผู้สูงอายุแบบองค์รวม โดยเน้นการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันกลุ่มอาการเฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะหกล้มบ่อย สำลัก ปัญหาการมองเห็น การได้ยิน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
รวมถึงโรคหรือภาวะร่วมที่เรียกว่าโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อ ได้แก่ เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง โดยกิจกรรมในคลินิกจะประกอบด้วยการประเมินผู้สูงอายุ ระบุความเสี่ยงของแต่ละรายเพื่อให้คำแนะนำและสร้างกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ ลดความเสี่ยงผู้สูงวัยไม่ให้เกิดภาวะพึ่งพิง
ตลอดจนเป็นจุดคัดกรองผู้สูงวัยเพื่อเชื่อมโยงกับคลินิกเฉพาะทางด้านต่างๆ เช่น ศูนย์พาร์กินสัน ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากการให้บริการผู้สูงวัยแบบองค์รวมที่จะเกิดขึ้นในคลินิก ยังมีอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญคือกิจกรรมเสริมสร้างให้ผู้สูงวัยเกิดภาวะ HEALTH LITERACY ทำให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงความรู้ด้านสุขภาพ มีความตระหนัก ถึงประเด็นสุขภาพและลงมือปฏิบัตินำความรู้ด้านสุขภาพไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้าง”