รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคทางการหายใจและภาวะวิกฤตทางการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปอดเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต คนเราจะดำรงชีวิตอยู่ได้ต้องมีปอดอยู่ในระดับที่มากพอสำหรับการนำออกซิเจนไม่ให้ต่ำเกินไป ซึ่งจริงๆ แล้วธรรมชาติให้ปอดคนเรามีเยอะเกินไป สามารถตัดออกบางส่วนได้ ถ้าปอดดีทั้ง 2 ข้างการตัดออกไปหนึ่งข้างก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีปัญหาอะไร
หลายๆ คนที่เป็นมะเร็งปอดจำเป็นต้องตัดออกไปหนึ่งข้างก็สามารถอยู่ได้ ถ้าปอดที่เหลืออีกข้างไม่มีปัญหาในการทำงาน
แพทย์จะพิจารณาตัดปอดเพื่อรักษาส่วนที่เหลือ
“ปกติคนที่ร่างกายแข็งแรงออกกำลังกายเต็มที่จนเหนื่อยเต็มที่ยังเหลือปอดส่วนที่ยังไม่ได้ทำงานอีก 10% ตัวที่กำหนดให้เราทำงานเต็มที่อยู่ที่หัวใจมากกว่า คนเราจะเหนื่อยที่หัวใจกำลังทำงานถึงขีดสุด ดังนั้นถ้าตัดปอดออกไปแล้วที่เหลือทำงานแค่ 50% คนเราก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ออกซิเจนไม่ต่ำ แต่อาจจะทำงานหนัก วิ่งมาราธอนไม่ไหว เพราะเหนื่อย
แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ตัดปอดเพราะอะไร ปอดที่เหลืออยู่ดีหรือไม่ ข้อบ่งชี้ในการปอดตัดมีหลายอย่าง ถ้าปอดที่เหลืออยู่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเพียงพอก็ตัดไม่ได้ ไม่มีใครอยากตัดถ้าไม่จำเป็น” รศ.นพ.ฉันชายกล่าว
และว่า ถ้าปอดที่เหลือไม่ปกติ ถ้าเหลือไม่พอ จะมีอาการเหนื่อยง่าย ออกซิเจนต่ำ อาจจะต้องใช้ออกซิเจนเสริมเพื่อช่วยการหายใจ และอาจจะทำกิจวัตรประจำวันได้น้อย ทำกิจวัตรหนักๆ ไม่ได้
เมื่อถามว่า กรณีปอดที่เหลือมีปัญหาสามารถรักษาให้หายและขยายใหญ่ขึ้นเพื่อให้การทำงานของปอดกลับมาเต็ม 100 % ได้อีกหรือไม่ รศ.นพ.ฉันชายกล่าวว่า ปอดสามารถขยายตัวขึ้นมาอีกได้ เพราะในช่องปอดจะมีช่องว่างมากขึ้น แต่อาจจะขยายใหญ่ขึ้นมาประมาณ 10% ไม่มีทางที่จะขยายขึ้นมาถึง 100% ได้