นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่ากรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกับสำนักงาน(สนง.) คณะกรรมการการอาชีวศึกษาหรือ สอศ. พัฒนาโปรแกรมสร้างทักษะชีวิตที่จำเป็นในชีวิตประจำวันและสังคมไทยในยุคศตวรรษที่ 21
สำหรับนักเรียนสายอาชีวศึกษาอายุ 15-20 ปีหรือที่เรียกว่าสายพันธุ์อา เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมความเสี่ยงของวัยรุ่นกลุ่มนี้ในระยะยาว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อปัญหาความรุนแรงและพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นอันตรายทั้งเรื่องการดื่มสุรา สูบบุหรี่ การมีเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร อุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ ทะเลาะวิวาทรุนแรงได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต รวมทั้งปัญหาการติดเกม
โดยผลการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่นในปีพ.ศ.2558 พบว่านักเรียนสายอาชีวศึกษามีพฤติกรรมเสี่ยงสูงกว่านักเรียนสายสามัญวัยเดียวกัน และผลการศึกษาของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ล่าสุดในปี 2559 พบนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงตอนปลายหรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ( ปวช.) ปี 1-3 ทุกสังกัดการศึกษา อายุ 13-17 ปี ดื่มสุราอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายสูงถึงร้อยละ 12 จึงต้องเร่งขยายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างความพร้อมที่ตัวเยาวชน
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ทักษะชีวิต ( Life Skills) เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นทักษะพื้นฐานและเป็นความสามารถในเชิงสังคมจิตวิทยาที่บุคคลต้องใช้ทุกวัน ช่วยให้สามารถเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสังคมในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคข่าวสารข้อมูลและเทคโนโลยี มีการแข่งขัน ขัดแย้งมากขึ้น
วัยรุ่นที่มีทักษะชีวิตดีจะสามารถคัดกรองข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ นำความรู้ในเรื่องต่างๆมาเชื่อมโยงกับทัศนคติ ผ่านการคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองอย่างรอบด้านและตัดสินใจเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เหมาะสม สามารถปรับตัวสู้กระแสวิกฤติได้อย่างมีเหตุมีผล
กรมสุขภาพจิตจึงมีนโยบายนำทักษะชีวิตมาใช้กับวัยรุ่นในสายอาชีวศึกษา เสมือนเป็นวัคซีนสร้างภูมิต้านทานเพื่อป้องกันปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆที่เป็นภัยกับสุขภาพและสังคม รวมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพความพร้อมของนักเรียนสายอาชีพให้มีทั้งทักษะชีวิตและทักษะในสายงานอาชีพ ตรงกับความต้องการตลาดอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสอศ.เป็นอย่างดี โดยมอบให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์เป็นแกนหลักดำเนินการ และจะเร่งขยายผลให้ครอบคลุมสถาบันระดับนี้ที่มีกว่า 400 แห่งทั่วประเทศต่อไป
ทางด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่า โปรแกรมสร้างทักษะชีวิตนักเรียนสายอาชีวศึกษานี้ ถือว่าเป็นนวตกรรมชิ้นสำคัญในการสร้างอนาคตวัยรุ่นของไทย ประกอบด้วย 3 มิติได้แก่ ทักษะด้านความคิด ทักษะด้านอารมณ์ และทักษะด้านคุณค่าในตนเอง
มีทั้งหมด 12 ทักษะย่อย โดยประยุกต์ทักษะพื้นฐานตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก 10 ทักษะประกอบด้วย ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาน ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะตระหนักรู้ในตน ทักษะเข้าใจคนอื่น
ทักษะการจัดการความเครียด ทักษะการจัดการกับอารมณ์ ทักษะการสร้างสัมพันธภาพและทักษะการสื่อสาร โดยได้เพิ่มทักษะชีวิตที่จำเป็นในสังคมไทยและที่ต้องมีในสังคมศตวรรษที่ 21 อีก 2 ทักษะคือ ทักษะด้านความภูมิใจในตนเอง ด้านความรับผิดชอบสังคม และทักษะการสร้างเครือข่ายการทำงานเป็นทีม การวางเป้าหมายชีวิตและการวิเคราะห์ข้อมูลที่มาจากสื่อโซเซียลเข้าไปด้วย
แพทย์หญิงมธุรดา กล่าวต่อว่า ในการสร้างทักษะชีวิตดังกล่าว จะดำเนินการโดยใช้กิจกรรมมีทั้งหมด 16 กิจกรรมซึ่งผ่านการตรวจสอบประสิทธิภาพจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตวัยรุ่น ด้านการศึกษา รวมทั้งประเมินจากผู้เรียนคือนักเรียนอาชีวศึกษาโดยตรง 10 แห่งแล้ว
เช่น กิจกรรมเลโก้มหาสนุก กิจกรรมเคลื่อนพลข้ามฝั่ง กิจกรรมต้นไม้ชีวิต กิจกรรมสำรวจชุมชน กิจกรรมรู้จักฉันรู้จักเธอ เป็นต้น โดยครูจะบูรณาการจัดกิจกรรมแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอนตามปกติในระดับปวช.
ขณะนี้ได้เริ่มทดลองใช้แล้วในวิทยาลัยอาชีวศึกษา 2 แห่ง คือ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต และวิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี ในเดือนพฤษภาคม -มิถุนายน 2560 หลังจากนั้นจะทำการศึกษาวิจัยประเมินผล เพื่อปรับให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น คาดว่าจะขยายผลใช้ในสถาบันอาชีวศึกษาตั้งแต่ปลายปี 2560 นี้ เป็นต้น