ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  วันนี้  ( 31 พฤษภาคม 2560 )  นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันที่ 31 พฤษภาคม ทุกปีองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็น วันงดสูบบุหรี่โลก ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกรณรงค์ให้ประชาชนลดละเลิกสูบบุหรี่

ในปีนี้กำหนดคำขวัญว่า“บุหรี่”เป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนา” ( Tobacco: a threat to development) โดยประเด็นที่น่าห่วงสำหรับประเทศไทยขณะนี้คือกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของประเทศ  ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2557 พบว่าวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี  สูบบุหรี่ 1.4 ล้านกว่าคน  เฉลี่ยเริ่มสูบครั้งแรกอายุน้อยลงเริ่มที่ 16 ปี 

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ผลการสำรวจของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ในปี2559 ได้สำรวจกลุ่มนักเรียนอายุ 13-17 ปี  ที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพปี 1-3 ทุกสังกัดการศึกษา พบว่ามีเด็กสูบและติดบุหรี่ขั้นงอมแงม ( Tobacco abuse  ) ร้อยละ 5.8 หรือจำนวนประมาณ  230,000 คน จากเด็กกลุ่มวัยนี้ที่มีทั้งหมด 4  ล้านกว่าคน

และมีอีกร้อยละ 2.4  หรือจำนวนประมาณ 96,000 คน ที่ติดบุหรี่อย่างหนัก ( tobacco dependence) หากหยุดสูบจะมีอาการไม่สบายที่เรียกว่าถอนบุหรี่  เช่น รู้สึกหดหู่ใจไม่สบาย หรือมีอารมณ์ซึมเศร้า นอนไม่หลับ หงุดหงิด โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ   ซึ่งเกิดมาจากการขาดสารนิโคติน ซึ่งเกิดมาจากการขาดสารนิโคติน เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมาก

 เนื่องจากมีผลการวิจัยของสถาบันสุขภาพจิตในต่างประเทศ พบว่ากลุ่มที่สูบบุหรี่มีระดับไอคิว( IQ) ต่ำกว่ากลุ่มไม่สูบประมาณ 7 จุด สังคมจึงต้องเร่งช่วยกันป้องกัน ไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ทุกประเภท โดยหากต้องการเลิกสูบบุหรี่ สามารถเข้ารับบริการปรึกษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทางด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่สมองกำลังพัฒนา ยังไม่สมบูรณ์แบบ สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นสูบบุหรี่มีหลายปัจจัย ทั้งตัวของวัยรุ่นเองซึ่งเข้าสู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเป็นวัยผู้ใหญ่ จะมีความรู้สึกว่าตนเองก็เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ทำทุกอย่างได้เหมือนผู้ใหญ่ อยากรู้อยากลอง หรือทดสอบความเข้มแข็งจิตใจของตนเอง

รวมทั้งปัจจัยทางสังคมสิ่งแวดล้อมอิทธิพลของเพื่อนและการเลียนแบบจากสื่อต่างๆที่พบเห็น เป็นที่ยอมรับของเพื่อนและเพศตรงข้าม และปัจจัยสำคัญที่ต้องทำให้สูบเรื่อยๆคือนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ทั้งบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่ไฟฟ้า ในบุหรี่ 1 มวนจะมีสารนิโคตินประมาณ 10 มิลลิกรัม เมื่อสูบเข้าไปนิโคตินจะเข้าสู่สมองภายใน 10-15 วินาที

“ผลวิจัยของวงการจิตแพทย์ระดับโลก ระบุว่านิโคตินจะออกฤทธิ์กระตุ้นที่สมองส่วนหน้าที่มีชื่อว่า คอร์เทกซ์ ( Prefrontal cortex ) ทำหน้าที่คล้ายกุญแจเข้าไปปลดล็อคโมเลกุลของประสาทตัวรับรู้ ให้ทำหน้าที่ปล่อยสารสื่อประสาทชื่อโดปามีน ( Dopamine ) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความพอใจ สุขใจ ทำให้ผู้สูบรู้สึกดีขึ้น และจะทำให้ร่างกาย

การช่วยเหลือและบำบัดรักษาผู้ที่ติดบุหรี่จะแตกต่างกันตามระยะเวลาที่สูบและระดับความรุนแรงของการติด ในผู้ใหญ่มักจะมีอาการคล้ายถอนยาที่รุนแรง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้อยากสูบ แต่ในวัยรุ่นอาการถอนยาจะรุนแรงน้อยกว่าแต่มีโอกาสพัฒนาไปใช้ยาเสพติดชนิดอื่นสูงกว่าผู้ใหญ่

ส่วนใหญ่วัยรุ่นที่สูบบุหรี่มักมีระดับความรุนแรงของการติดนิโคตินเล็กน้อยถึงปานกลาง การบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการบำบัดทางจิตสังคม คือการประเมินแรงจูงใจและการปรับพฤติกรรม การให้คำปรึกษาทั้งรายบุคคล รายกลุ่มซึ่งมีผู้ปกครองด้วย เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าการบำบัดด้วยยาอย่างเดียว อาจมีผลเสียตามมา เช่นติดนิโคตินเพิ่มมากขึ้น

ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า พฤติกรรมอาการที่บ่งบอกว่าผู้สูบบุหรี่ติดบุหรี่มาก ที่สำคัญมี 5 อาการ ได้แก่ 1.ต้องสูบมวนแรกหลังตื่นนอนภายใน 30 นาที 2. สูบมากกว่าวันละ 1 ซอง 3. แม้ไม่สบายก็สูบ 4. เคยเลิกสูบแล้วแต่กลับไปสูบใหม่ และ 5. อยู่ในที่ห้ามสูบแล้วต้องหลบออกไปสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ผลการศึกษาในกลุ่มของผู้ป่วยจิตเภทพบว่าสูบบุหรี่มากถึงร้อยละ 70-90 และสูบเฉลี่ยประมาณวันละ 20 มวน นับว่ามีการเสพนิโคตินเข้าไปในระดับที่สูงมาก จึงมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้ป่วยจิตเวช เป็นอุปสรรคในการรักษาอย่างมาก เพราะผู้ป่วยจะเลิกสูบบุหรี่ยาก

เนื่องจากพอหยุดสูบบุหรี่ จะทำเกิดอาการซึมเศร้า เมื่อสูบบุหรี่เข้าไปด้วย ฤทธิ์ของนิโคตินจะไปทำให้ตับกำจัดยาที่รักษาออกจากร่างกายเร็วขึ้น ทำให้ฤทธิ์ยาอ่อนลง บางรายต้องเพิ่มขนาดยารักษาขึ้นอีก หรือทำให้อาการโรคกำเริบเร็วขึ้น

ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่มานาน เมื่อหยุดสูบจะเกิดอาการขาดนิโคติน อาจพบอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย โกรธง่าย วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ซึ่งจะเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง

หากผู้ต้องการจะเลิกทนอาการเหล่านี้ได้ ใน 2-3 วัน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก อาการไม่สบายจะค่อยๆหายไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการติดแต่ละคน ข้อมูลการวิจัยพบว่า 8 ใน 10 ของผู้ที่เลิกสูบสำเร็จ จะเลิกได้เองโดยการให้กำลังใจจากคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ไม่ต้องพึ่งคลินิกหรือยาช่วย แต่ในรายที่ติดบุหรี่มาก อาจต้องพึ่งคลินิกและยาช่วยอดบุหรี่ รวมทั้งการให้คำปรึกษาช่วยสร้างกำลังใจ

ภาพ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยนายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ตรวจเยี่ยมคลินิกอดบุหรี่ ให้บริการผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่อย่างถาวร กว่า 250 คน โดยจิตแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และพยาบาลจากกรมสุขภาพจิตร่วมกับสถาบันธัญญารักษ์ ในโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางบริการตรวจรักษาประชาชนในจังหวัดปราจีนบุรีและใกล้เคียง ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ยากและซับซ้อนเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร ในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2560

เรื่องน่าสนใจ