กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มั่นใจทีมเอ็มเสิร์ท พร้อมให้ความช่วยเหลือสถานพยาบาลประสบภัยน้ำท่วม ย้ำ!! อุปกรณ์ เครื่องมือมีส่วนสำคัญมากในการช่วยเหลือสถานพยาบาลที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อสามารถให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 3 สิงหาคม 2560) นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มอบหมายให้ นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีฯ จัดทีมเอ็มเสิร์ท (Medical Supportive Emergency Response Team : MSERT) หรือทีมวิศวกรฉุกเฉินจากกองแบบแผน กองวิศวกรรมการแพทย์ และสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 1-12
พร้อมให้ความช่วยเหลือสถานพยาบาลที่ถูกน้ำท่วม ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ซึ่งสถานพยาบาลจะขาดหัวใจหลักไม่ได้ คือ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสาร เครื่องมือแพทย์ และอาคารสถานที่ กรม สบส. จึงได้ส่งทีมเอ็มเสิร์ทเพื่อร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือกู้ระบบสาธารณูปโภคให้ทันท่วงทีภายใน 24 ชั่วโมง และกู้รายหน่วยงาน
เช่น ตึกผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉิน ห้องทำฟัน คลังยา ห้องซักฟอก หน่วยสนับสนุนอื่นๆ ให้เสร็จภายใน 1-5 วัน สำหรับการดำเนินการช่วงฟื้นฟูหลังน้ำลด จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดทีมเข้าดำเนินการตามความเชี่ยวชาญ จำนวน 6 ทีมๆ ละ 4-5 คน ร่วมสำรวจ ออกแบบ แนวทางวางผังเครื่องมือแพทย์ และโครงสร้าง เพื่อป้องในระยะยาวหลังจากฟื้นฟูแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 30 วัน
และสุดท้ายรายงานผลเพื่อสรุปการดำเนินงานให้กับผู้บริหารรับทราบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางดำเนินงานในครั้งต่อไป ซึ่งปัญหาอุปสรรคที่พบในการช่วยเหลือ คือ การขาดอุปกรณ์และเครื่องมือที่มีศักยภาพที่สามารถช่วยเหลือและกู้สถานการณ์ให้สถานพยาบาลสามารถให้บริการประชาชนได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ทั้งนี้ นายแพทย์ประภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการลงพื้นที่ช่วยเหลือสถานพยาบาลที่ถูกน้ำท่วมนั้น จำเป็นต้องมีรถเคลื่อนที่ 4 ล้อ ยกสูง บรรทุกขนาดไม่น้อยกว่า 1 ตัน พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับกู้สถานพยาบาล กรณีเกิดภัยพิบัติและในภาวะฉุกเฉิน โดยต้องใช้เครื่องรับส่งวิทยุ เครื่องหาพิกัดดาวเทียม ระบบกล้อง และต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือในสถานการณ์น้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ เช่น ชุดซ่อมบำรุง หมวกพร้อมกล้อง เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการบำรุงอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ปั๊มน้ำ เครื่องฉีดน้ำ เครื่องเป่าลม และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น นอกจากนี้ระบบไฟฟ้ามีความจำเป็นอย่างมาก
โดยจะต้องมีระบบไฟฟ้าสำรอง คือ 1) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลัก 2) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ซึ่งต้องจ่ายกระแสไฟฟ้าสำรองทดแทนเมื่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักเกิดขัดข้องได้ทันที 3) ระบบโซลาร์เซลล์ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กพร้อมอุปกรณ์ควบคุมและจัดเก็บพลังงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์สื่อสารในการขอรับความช่วยเหลือ
รวมถึงการดำรงชีพในกรณีที่การไฟฟ้าหลักถูกตัดขาดเมื่อน้ำท่วมสูง ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ และ 4) ต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดลากจูง สำหรับใช้ในภาคสนาม ทั้งนี้ ทางกรม สบส. จะพยายามสนับสนุนให้มีความพร้อมของเครื่องมือดังกล่าวเพื่อที่จะได้ช่วยดำเนินการฟื้นฟูสถานพยาบาลให้สามารถกลับมาดำเนินการให้บริการประชาชนต่อไป