ที่มา: dodeden

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อโซเชียล ถึงชายหนุ่ม อายุ 25 ปี ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์และเกิดอุบัติเหตุรถล้มบาดเจ็บที่ขาขวา ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านมหาชัย แต่แพทย์ได้มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล จำนวน 100,000 บาท ก่อนจึงจะผ่าตัดให้

ซึ่งญาติผู้ป่วยแจ้งว่าจะนำเงินมาให้ในวันถัดไป จึงไม่ได้รับการผ่าตัดและส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมแทน โดยแพทย์ประจำโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมแจ้งว่าต้องตัดขาขวาตั้งแต่หัวเข่าลงไปทิ้ง เนื่องจากเส้นเลือดขาดและเซลล์ตาย เพราะผู้ป่วยมาถึงช้าเกินไป นั้น

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  วันนี้ (2 สิงหาคม 2560) นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ กรม สบส.ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย ลงพื้นที่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเวชระเบียน และเอกสารทางการแพทย์ว่ามีการปล่อยปละ ละเลย ไม่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามที่มีการเผยแพร่ข่าวหรือไม่

โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะมุ่งตรวจสอบในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ทั้ง 2 ประเด็น ได้แก่ 1) ในขณะที่เกิดเหตุแพทย์ผู้ให้บริการมีการดำเนินการรักษาพยาบาลผู้ป่วยถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่

หากตรวจพบว่าแพทย์ผู้ให้บริการมิได้มีการดำเนินการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 34 (2) ของพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541  และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559 ฐานไม่ควบคุมและดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพของตน

มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และในส่วนของแพทย์ผู้ให้บริการ จะส่งเรื่องให้แพทยสภาพิจารณาเอาผิดด้านจริยธรรมต่อไป และ 2) ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวมีการประเมิน และช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ

หรือถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อหรือผู้ป่วยมีความประสงค์จะไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ได้จัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่ หากไม่มีการดำเนินการตามมาตรฐาน ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 36 ของ พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยกรม สบส.จะประสานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ร่วมตรวจสอบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) หรือไม่ ผ่านระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วยของ สพฉ.หากผู้ป่วยรายดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) โรงพยาบาลห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรกเด็ดขาด  ตามนโยบายรัฐบาล “ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

ทั้งนี้ ต้องขอเน้นย้ำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมยึดหลักคุณธรรม และมนุษยธรรม เป็นสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยไม่นำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไขในการรักษาพยาบาล เพื่อคุ้มครองชีวิตของประชาชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

และหากผู้ใดมีข้อคำถาม หรือข้อร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชนสามารถติดต่อได้ที่ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรม สบส.หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18406

เรื่องน่าสนใจ