ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 27 มิ.ย.) นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลที่เน้นการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน และนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่เน้นพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภคด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
โดยให้คนไทยได้มีโอกาสร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ มีเป้าหมายการให้บริการ “ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สามารถลดภาระโรคและภัยคุกคาม ตลอดจนได้รับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ”
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีกลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่โดยการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. ซึ่งเป็นผู้นำการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชน
ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกระดับให้เป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน เป็นผู้เชี่ยวชาญดูแลสุขภาพ โดยเป็นแกนนำหลักในการวางแผนด้านสุขภาพ การจัดการงบประมาณ การจัดกิจกรรมด้านสุขภาพ และการประเมินผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมในชุมชน ผ่านกระบวนการยอมรับของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ทำให้ อสม. มีศักยภาพเข้มแข็ง เป็นแกนนำและเป็นแบบอย่างที่ดีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
มีการสื่อสารสุขภาพให้กับอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) โดยมีเป้าหมายให้ อสม. 1 คน ดูแลเป็นพี่เลี้ยง อสค. 3 คน ทั้งนี้ เพื่อให้ทั้ง อสม. อสค. และประชาชน มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า เพื่อเสริมศักยภาพความเข้มแข็งของ อสม. ในการเป็นนักเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพในชุมชน กองสุขศึกษาจึงได้จัดทำ “คู่มือการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ จาก อสม. สู่ อสค.” ขึ้น เพื่อให้ อสม.และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับ อสค.ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
รวมทั้งเพื่อให้ อสค.และประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน มีทักษะและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและบริการสุขภาพ มีความรู้ ความเข้าใจทางสุขภาพ และมีการสื่อสารด้านสุขภาพ รู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ จนมีการจัดการและตัดสินใจเลือกปฏิบัติด้านสุขภาพได้อย่างถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดโรค สามารถดูแลสุขภาพตนเอง สมาชิกในครอบครัว และมีส่วนร่วมในการจัดการด้านสุขภาพของชุมชนได้ ซึ่งทำให้ตนเอง ครอบครัว มีสุขภาพที่ดี
การเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจาก อสม.สู่ อสค.เป็นรูปแบบหนึ่งของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับครอบครัวที่จะเชื่อมต่อและช่วยเสริมเพิ่มพลังการทำงานของ อสม.ในการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืน