หลังจากมีข่าวฮือฮาในวงการแพทย์ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ต่างพาดหัวข่าวว่า “นายกแพทยสภา ขอโทษผู้แทนอนามัยเหตุ หมอไทยก้าวร้าว” “แพทยสภาหอบคณะ ขอโทษผู้แทนองค์การอนามัยโลก ปมหมอไทยก้าวร้าว กันท่าแสดงความเห็นต่อ ร่างกฎหมาย สสส.”
พร้อมทั้งแสดงความเสียใจและขออภัยต่อกรณีที่มีกรรมการแพทยสภา ซึ่งเข้าประชุมในฐานะตัวแทนหน่วยงานอื่น เพื่อทำประชาพิจารณ์การปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.สสส. พ.ศ. … โดยมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะในการแสดงเหตุผลไม่ให้ผู้แทนอนามัยโลกแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จนทำให้เครือข่ายภาคประชาชนเดินทางมาร้องเรียนที่แพทยสภาเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กรรมการแพทยสภา และ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า จากข่าวดังกล่าวทำให้ตน และ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ถูกสังคมทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นผู้ก้าวร้าว และพูดไม่เหมาะสมต่อกรณีผู้แทนองค์การอนามัยโลก
ดังนั้นตนจึงขอแจ้งผ่านสื่อว่า ถ้าสองแพทย์ผิดตามที่ยืนยัน ขอให้พิจารณาลงโทษ และให้ทำการสอบสวนผลโดยด่วน และมีบทสรุปที่ชัด และยุติเรื่องตามหลักการ และให้เสนอเป็นข่าวในระดับที่ใกล้กับการกระทำครั้งนี้ ผิดคือผิด ถูกคือถูก ขอให้ลงคะแนนอย่างเปิดเผย ห้ามทำแบบลับ
“ขอให้แถลงว่าเหตุใดจึงกระทำการเช่นนั้นกับสองแพทย์หญิง ทั้งที่ทราบถึงขั้นตอนกระบวนการที่ถูกต้อง บุคคลทั้งสาม ที่ไปพบกับ WHO ไม่อยู่ในฐานะตัวแทนขององค์กรแพทยสภา ในเรื่องที่ไปขอโทษดังกล่าวได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ให้อำนาจไว้
การกระทำการใดๆ ในนามแพทยสภา ต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการที่กฎหมายกำหนด นายกแพทยสภา เลขาธิการแพทยสภา ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายเช่นนั้น และผู้มีอำนาจบริหารเกี่ยวกับแพทยสภา คือคณะกรรมการแพทยสภาทั้งหมด 56 คน ทั้งนี้ต้องมีมติของคณะกรรมการที่ทำการประชุมและลงความเห็น ตามข้อบังคับของแพทยสภา จึงให้ทั้งสามชี้แจงด้วย” พญ.อรพรรณ์ กล่าวในที่สุด