หยุด เอาระเบิดเวลามาแขวนเต้า เพราะสิ่งสำคัญคือการมีหน้าอกที่สุขภาพดี หรือผ่าตัดด้วยเทคนิคมาตรฐานปลอดภัย ไม่ใช่การมีหน้าอกที่เต็มไปด้วยสิ่งแปลกปลอมกระจายเต็มไปหมด
กรณีความเสียหายที่เกิดจากการทำศัลยกรรมที่ไม่ได้มาตรฐานในประเทศไทยยังคงมีออกมาให้เห็นอยู่ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะการใช้สารเติมเต็ม หรือ “ฟิลเลอร์” โดยรายล่าสุดคือ พริตตี้สาววัย 24 ปี ที่อกระทมนมเน่าจากการฉีดฟิลเลอร์ที่คลินิกแห่งหนึ่ง
ต่อเรื่องของการศัลยกรรมหน้าอกนั้น นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร และกิจกรรมเพื่อสังคม ศัลยแพทย์เต้านม, ศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสร้าง คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ศัลยกรรมความงามของเต้านมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในคนไทยคือการเสริมขนาด ซึ่งจะมี 3 วิธีการที่นิยมคือ
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วศัลยแพทย์ตกแต่ง มักจะใช้การเสริมด้วยถุงเต้านมเทียมซึ่งถือ ว่ามีความปลอดภัยสูงถ้าทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ในสถานที่และอุปกรณ์ได้มาตรฐาน หรือหากมีปัญหาก็สามารถติดตาม และดูแลแก้ไขได้มีผลการศึกษาวิจัยรองรับแล้วว่า การเสริมด้วยถุงเต้านมเทียม ไม่มีผลต่อการให้นมบุตร ไม่มีผลต่อการเกิดมะเร็ง หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
ในขณะที่การฉีดฟิลเลอร์นั้น ศัลยแพทย์แทบจะไม่ใช้เลย เพราะถือว่าเป็นวิธีการที่มีอันตรายสูงมาก เนื่องจากฟิลเลอร์เป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อฉีดเข้าร่างกายเกือบทุกรายจะเกิดปัญหา อาจอ้างว่าปลอดภัย ซึ่งอาจจะปลอดภัยจริงหากฉีดแค่ 1-2 ซีซี แต่เมื่อฉีดเต้านมหลาย ๆ ร้อยซีซี ย่อมเกิดปัญหาทั้งสิ้น
แต่บางคนก็ยังเลือกฉีดฟิลเลอร์เสริมหน้าอก เพราะหลังการฉีดผู้ป่วยอาจพอใจที่ขนาดโตขึ้น แผลไม่มี แต่เมื่อเวลาผ่านไปร่างกายจะรับรู้ว่านี่คือสิ่งแปลกปลอม และเกิดปฏิกิริยา จากระบบน้ำเหลือง กลไกป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอม เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ไหปลาร้า ผิวหนังบริเวณเต้านม หน้าท้อง หรือขาหนีบ เป็นต้น
เนื่องจากกายวิภาคของเต้านมจะมีชั้นผิวหนัง ชั้นใต้ผิวหนัง เนื้อเยื่อเต้านม กล้ามเนื้อ กระดูก และปอด สารที่ฉีดเข้าไป ไม่สามารถควบคุมได้ อาจกระจายเข้าเส้นเลือดมีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉพาะส่วนได้
นอกจากนี้ สิ่งที่พบบ่อยมาก คือการอักเสบติดเชื้อหากไม่สามารถควบคุมได้ อาจติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ซึ่งอาจอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ผลกระทบในระยะสั้นอาจจะทำให้เกิดการอักเสบ บวม เจ็บ แตก ทะลุ เป็นหนอง ในระยะยาว ก็จะมีปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะการเกิดพังผืด และความเจ็บปวด ที่ทรมาน บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย ในรายที่เป็นมากจะพบหน้าอกแข็งเป็นตะปุ่มตะป่ำ เป็นก้อน พุพอง เป็นหนอง แตกหลายตำแหน่ง
“หลายรายต้องจบการรักษาด้วยการตัดเต้านม เหตุเพราะทนความเจ็บปวดไม่ไหว เกิดการติดเชื้อทั่วเต้านม เกิดซ้ำ ๆ ออกไปใช้ชีวิตในสังคมไม่ได้ บางรายแผลมีกลิ่น หรือสารแปลกปลอมกระจายไปต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ต้องผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง มีโอกาสทำให้แขนบวมหลังจากทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองได้ จากสถิติที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเดือนละประมาณ 10 ราย และบางรายต้องตัดเต้านม และบางรายต้องเสริมสร้างใหม่ ด้วยการผ่าตัดหลายขั้นตอน ซึ่งใช้ความชำนาญของศัลยแพทย์ตกแต่งและเสริมสร้าง ร่วมกับทีมแพทย์หลายสาขา”
นพ.วิษณุ ยังระบุอีกว่า การฉีดฟิลเลอร์เข้าที่หน้าอกทำให้มีปัญหาการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เพราะแยกเนื้อดี หรือเนื้อมะเร็งออกจากกันไม่ได้ อนาคตยังมีปัญหาเรื่องการให้นมบุตร เนื่องจากการอักเสบติดเชื้อ เจ็บปวดจากพังผืด อาจทำให้ไม่สามารถให้นมบุตรได้ หยุด เอาระเบิดเวลามาแขวนเต้าเพราะสิ่งสำคัญคือการมีหน้าอกที่สุขภาพดี หรือผ่าตัดด้วยเทคนิคมาตรฐานปลอดภัย ไม่ใช่การมีหน้าอกที่เต็มไปด้วยสิ่งแปลกปลอมกระจายเต็มไปหมด รอวันเกิดปัญหาซึ่งแก้กันไม่รู้จบ และอาจลงท้ายด้วยการเสียเต้านมที่รักและหวงแหนได้
สุดท้ายขอฝากให้ผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรมเต้านม ตรวจสอบรายชื่อแพทย์จากสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย www.surgery.or.th เพื่อความมั่นใจ และไม่หลงไปตามกระแสการตลาดและโฆษณาชวนเชื่อ