สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน องค์การอนามัยโลก (ฮู) ประกาศว่า ประเทศไทยสามารถกำจัดการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้เป็นประเทศแรกในเอเชีย การกำจัดการแพร่เชื้อ ถูกระบุความหมายว่า การลดการแพร่เชื้อจนถึงระดับที่ต่ำจนทำให้เชื้อไม่ถือเป็นปัญหาสาธารณสุข เมื่อปีที่ผ่านมา คิวบากลายเป็นประเทศแรกในโลกที่องค์การอนามัยโลกตรวจสอบพบว่าสามารถกำจัดการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้ แต่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่มีการแพร่ระบาดของเอชไอวีเป็นวงกว้าง ที่สามารถสร้างยุคสมัยปลอดเอดส์ได้
ในช่วงยุคคริสต์ทศวรรษ 1980 และ 1990 ประเทศไทยเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อเอชไอวีครั้งใหญ่ ด้วยปี 2534 เพียงปีเดียว มีประมาณการณ์ผู้ติดเชื้อใหม่ 143,000 คน ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยกระตุ้นความตระหนักรู้ต่อเชื้อ ส่งเสริมความรู้ในการใช้ถุงยางอนามัย และให้บริการบำบัดผู้ติดเชื้อด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี (เออาร์วี) โดยปราศจากค่าใช้จ่าย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในปี 2556 ลดลงเหลือ 8,100 คน
องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า การแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกในประเทศไทยลดลงอย่างมาก โดยในปี 2558 มีเด็กที่ติดเชื้อจากแม่ 85 คน ต่างจากเมื่อปี 2543 ที่มีเด็กผู้ติดเชื้อจากแม่เกือบ 1,000 คน ขณะเดียวกัน รายงานของกระทรวงสาธารณสุขไทย ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในปี 2557 ลดลงเหลือ 1,900 คน จากเมื่อปี 2543 ที่มีผู้หญิงติดเชื้อกลุ่มใหม่ 15,000 คน
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขไทยเปิดเผยข้อมูลอีกว่า 98% ของผู้หญิงตั้งครรภ์ทั้งหมดที่ติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าถึงเออาร์วีได้ และอัตราการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกลดลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น
องค์การอนามัยโลกยกย่องถึงการตัดสินใจของประเทศไทยที่ให้บริการต่าง ๆ แก่ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน รวมถึงคนงานหญิงอพยพที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย โดยบริการเหล่านี้รวมถึงบริการฝากครรภ์ปราศจากค่าใช้จ่าย บริการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิส เพิ่มอัตราครอบคลุมการรักษาขึ้น และผลักดันการกำจัดการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก
องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีและไม่ได้รับการรักษามีโอกาส 15 – 45% ที่จะแพร่เชื้อเอชไอวีให้แก่ลูก โดยมีช่วงระหว่างตั้งครรภ์ คลอดลูก ให้นมลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม เออาร์วีสามารถช่วยลดความเสี่ยงลงประมาณ 1% หากแม่และเด็กได้รับการรักษาในช่วงสภาวะที่อาจเกิดการติดเชื้อได้
ดร.ปูนาม เกตระปาล ซิงห์ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “ถือเป็นความสำเร็จอันยอดเยี่ยมสำหรับประเทศที่มีประชาชนผู้ติดเชื้อหลายพันคนอาศัยอยู่…ประเทศไทยทำให้โลกเห็นว่า เราสามารถเอาชนะเอชไอวีได้” ขณะที่นายมิเชล ซิดิเบ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติกล่าวถึงความสำเร็จถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามกวาดล้างการแพร่ระบาดของเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573