ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ถึงการห้ามใช้สารไตรโครซาน ( Triclosan ) ในผลิตภัณฑ์สบู่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ( FDA ) ออกคำสั่งห้ามดังกล่าวในผลิตภัณฑ์สบู่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งส่วนผสมต่างๆ อีก 18 ชนิด ที่มักจะถูกใช้ในสบู่ประเภทนี้ โดยจะมีผลบังคับใช้ทั่วสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2560 นี้
ทั้งนี้ FDA ให้เหตุผลว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่า สบู่ที่ผสมสารเคมีเหล่านี้ มีประสิทธิภาพดีกว่าสบู่ธรรมดาหรือน้ำเปล่า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการหลายรายรวมทั้งรายใหญ่ เช่น พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้เริ่มหยุดใช้ส่วนผสมนี้ในผลิตภัณฑ์บางชนิดแล้ว
ไตรโครซาน คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่มักใช้ในการผลิตสบู่ประเภทต้านเชื้อแบคทีเรีย และบางครั้งใช้ผสมในยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เครื่องสำอาง น้ำยาซักผ้า กระดาษทิชชู เสื้อผ้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพอีกมากมายหลายชนิด ดังนั้นสารไตรโครซานที่ดูดซึมผ่านผิวหนังหรือทางช่องปากจะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน มีรายงานหลายฉบับที่ชี้ว่า สารไตรโครซานอาจทำให้เกิดอาการแพ้ตามผิวหนัง ทำให้ต่อมฮอร์โมนทำงานผิดปกติ กล้ามเนื้อผิดปกติ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และระบบการเจริญพันธุ์มีปัญหา ตลอดจนอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้
“ผู้ประกอบการไทยจึงควรตระหนักถึงผลกระทบ และหลีกเลี่ยงการผสมสารไตรโคซานในสินค้าด้วย ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายเท่านั้นที่อาจมีสารไตรโครซานเป็นส่วนผสม แต่ยังรวมถึงที่นอน ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าอื่นๆ ที่ติดป้ายต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากมักมีการใช้สารไตรโครซานในกระบวนการผลิต
นอกจากนี้งานวิจัยบางชิ้นยังระบุด้วยว่าสารไตรโครซานที่ลงสู่ท่อระบายน้ำออกไปสู่ทะเล ยังทำลายแบคทีเรียในระบบนิเวศน์ ทำลายห่วงโซ่อาหาร และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมทางทะเลเสียหายด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวในตอนท้าย