ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า ดร.ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในช่วงใกล้จะถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า ในช่วงดังกล่าวจะมีวันหยุดยาว ดังนั้นการเตรียมยาในระหว่างเดินทางไม่ว่าจะเดินทางในประเทศ หรือต่างประเทศ สำคัญที่สุด
อันดับแรก คือ การเตรียมยาสำหรับผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว ซึ่งยาของผู้สูงอายุจะมียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ ดังนั้นควรเตรียมยาในปริมาณเท่ากับวันที่เดินทางหรือสำรองเพิ่ม 3-5 วัน และควรติดชื่อยาไปด้วยเพราะหากยาตกหล่น สูญหาย สามารถซื้อยาตัวเดิมหรือเข้าโรงพยาบาลแจ้งแพทย์ได้ว่าใช้ยาอะไร
ส่วนยาอื่นๆ จะเป็นยาพื้นฐานที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน อาทิ พาราเซตามอลลดไข้ ยาแก้แพ้ ซึ่งสามารถลดน้ำมูก และใช้แก้คันได้ด้วย ยาลดกรดชนิดน้ำซึ่งออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าชนิดเม็ด ผงเกลือแร่ ผงถ่านกรณีท้องเสีย ยาแก้เมารถ ยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ และอุปกรณ์ทำแผล
กรณีต้องขับรถเอง หากมีการใช้ยาในระหว่างนั้นต้องศึกษาก่อนว่า ยาที่รับประทานมีตัวใดที่ออกฤทธิ์ทำให้มีอาการง่วงนอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ หรือยาในกลุ่มแก้ปวดไมเกรน ยาคลายกังวลบางชนิด ยากลุ่มนี้ทำให้ง่วงนอน เป็นผลให้ความสามารถในการตัดสินใจช้าลง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ กรณีไม่สามารถเลี่ยงได้ ควรจอด นอนพัก จนหายง่วง แล้วจึงขับต่อไป
รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า ในช่วงดังกล่าวอาจจะมีโรคที่เกิดขึ้นบ่อย ได้แก่ ไข้หวัด เนื่องจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน รวมถึงการอยู่ในที่ที่มีคนหนาแน่นทำให้มีโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่าย และอีกอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในการเดินทาง คือ ท้องเสีย ควรเตรียมยาและผงน้ำตาลเกลือแร่สำรองเพิ่มสำหรับหลายคน
ส่วนผู้ที่กำลังตั้งครรภ์โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหารกเกาะต่ำ ในการเดินทางที่กระทบกระเทือนต้องระวังมาก หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง และถ้าหากมีอาการปวดหรือมีไข้ฉับพลันขึ้นมาให้เลือกใช้เฉพาะยาพาราเซตามอลเท่านั้น หรือหากมีน้ำมูกสามารถใช้คลอเฟนนิรามีนได้ สำคัญที่สุดควรมีเบอร์โทรศัพท์ของแพทย์หรือพยาบาลที่ฝากครรภ์ไปด้วย ถ้ามีปัญหาจะได้โทรปรึกษา หากมีเหตุสุดวิสัยจริงๆ ให้เข้าพบแพทย์ที่สถานพยาบาลในพื้นที่นั้นๆ ทันที