นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่าในฤดูฝนของทุกปี จะพบผู้ป่วยเป็นโรคที่มาจากยุงลายด้วย ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาซึ่งเป็นโรคที่สังคมให้ความสำคัญกันอยู่ในขณะนี้
สำหรับการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยใน 3 โรคนี้ คือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยกำจัดยุงลายและลูกน้ำยุงในธรรมชาติให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดเป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์อยู่ในขณะนี้
โดยสิ่งที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุงเพราะยุงจะไม่ชอบอยู่ในที่โปร่ง โล่ง สว่าง และเก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้านโดยทำต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งหรือทำให้ถี่มากกว่านั้นก็ย่อมได้ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ซึ่งจะเป็นการตัดวงจรชีวิตของยุงไม่ให้ขยายพันธุ์ ที่ปกติยุงจะมีวงจรชีวิตอยู่ประมาณ 7 วัน และการเก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายไปวางไข่กำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยทรายเคลือบสารที่มีฟอส หรือทรายอะเบท
นอกจากนั้นต้องกำจัด และควบคุมยุงตัวแก่ ด้วยการการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ
ผู้อำนวยการฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนขององค์การเภสัชกรรมได้ทำการวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์สำหรับทาป้องกันยุงขึ้นมาภายใต้ชื่อ เอ็ม-รีเพลล์ในรูปแบบของเจลใส ใช้ทาผิวป้องกันยุง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์เอ็ม-รีเพลล์นี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย
เนื่องจากเป็นการใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดแมลง หรือ biopesticide ซึ่งเป็นสารป้องกันยุงที่พัฒนาจากธรรมชาติ สามารถใช้ได้ทั้งในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จนถึงผู้ใหญ่สามารถป้องกันยุงได้นาน 7 ชั่วโมง โดยยุงรำคาญป้องกันได้ 7 ชม.ถ้าเป็นยุงลายบ้านจะป้องกันได้ 3 ชั่วโมง ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันหรือ Protection time โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนั้นองค์การฯ ยังได้ผลิตทรายกำจัดลูกน้ำยุง ภายใต้ชื่อ ทรายจีพีโอ-1 Temephos 1 % W/W ชนิดซอง 50 กรัม และชนิดถัง 25 กิโลกรัม สำหรับใส่ในแหล่งน้ำเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยขณะนี้องค์การฯ ได้เร่งกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิด เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น และได้ทยอยกระจายส่งให้แต่ละหน่วยบริการ และจำหน่ายให้ประชาชนนำไปใช้ในพื้นต่างๆ ต่อไป
ทีมนักวิจัยขององค์การฯยังได้ทำการวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ เอ็ม-รีเพลล์ เป็นชนิดสเปรย์ โดยใช้สารสำคัญชนิดเดียวกับเอ็ม-รีเพลล์ชนิดเจล เพื่อความสะดวกในการใช้ป้องกันยุง โดยผลิตภัณฑ์กันยุง เอ็ม-รีเพลล์ ชนิดสเปรย์ ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันยุงจากกรมควบคุมโรคแล้ว ผลิตภัณฑ์ เอ็ม-รีเพลล์ ชนิดสเปรย์นี้จะทำการผลิตออกสู่ตลาดในเร็วๆนี้
ผู้อำนวยการฯ ยังได้กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ป่วยที่สงสัยเป็นไข้เลือดออก หรือมีไข้สูงติดต่อกันมานานเกิน 3 วัน หรือเป็นไข้แล้วหายแต่กลับมาเป็นใหม่อีก ห้ามใช้ยาแอสไพริน แสดงว่าอาจเกิดการติดเชื้อไข้เลือดออก ดังนั้นควรไปพบแพทย์ทันที
ส่วน โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ทำให้เสียชีวิต แต่มีผลต่อหญิงตั้งครรภ์ ทำให้ทารกเกิดมามีความพิการศีรษะเล็ก ส่งผลถึงพัฒนาการของเด็ก และมีผลต่อผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคนี้ไม่รุนแรงเหมือนไข้เลือดออก สามารถหายเองได้ สำคัญป้องกันได้โดยไม่ให้ยุงกัด
“มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นหนักในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา คือการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การป้องกันไม่ให้ยุงกัด
ที่สำคัญ ภายในโรงพยาบาลทุกแห่งทุกระดับต้องเป็นสถานที่ปลอดลูกน้ำและปลอดยุงลาย ไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตัดวงจรการระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ทากันยุงนั้นควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่ไม่มีผลอันตรายกับเด็กและหญิงมีครรภ์”