ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 6 สิงหาคม 2560 ) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมขณะนี้ว่า จุดมุ่งหวังของกรมสุขภาพจิตก็คือการให้การดูแลจิตใจผู้ประสบภัยทุกคนให้เข้มแข็งในการคลี่คลายปัญหา เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วที่สุด ลดผลกระทบให้มีน้อยที่สุด 

ซึ่งขณะนี้เน้นหนักกลุ่มครอบครัวที่สูญเสียญาติพี่น้องหรือบุคคลอันเป็นที่รักจากน้ำท่วม กลุ่มผู้ประสบภัยทั้งผู้ที่สูญเสียที่อยู่อาศัย  พื้นที่เกษตรกรรม   ร้านค้า สถานประกอบการ ทรัพย์สิน หรือได้รับบาดเจ็บจากน้ำท่วมทั้งที่พักอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว และอยู่ในบ้านที่มีน้ำท่วมขัง

สำหรับที่จ.สกลนครและจ.นครพนม ได้เตรียมแผนในระยะฟื้นฟูช่วง 1-2 สัปดาห์หลังระดับน้ำลดลง โดยส่งทีมฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ จากรพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์  รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่  8  สมทบกับทีมเยียวยาฯของจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 8

ซึ่งมี 7 จังหวัดคือ สกลนคร นครพนม  หนองคาย บึงกาฬ เลย อุดรธานี และหนองบัวลำภู รวมไม่ต่ำกว่า 10 ทีม เพื่อลงประจำการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น อ.กุสุมาลย์ โพนนาแก้ว พรรณานิคม อากาศอำนวย นาแก วังยางเป็นต้น  ในวันที่ 7-11 สิงหาคม 2560 นี้

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า  กลุ่มที่เป็นห่วงและอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจได้คือกลุ่มของผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เช่นอาสาสมัคร มูลนิธิกู้ภัยต่างๆ เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน ซึ่งอาจเกิดความเครียดสะสมมาจาก 5 สาเหตุได้แก่ 1.ความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการทำงานที่ต้องเสี่ยงภัย  2.ทำงานภายใต้ความกดดันที่ต้องดูแลคนจำนวนมากติดต่อเป็นเวลานาน  3.การช่วยเหลือไม่เป็นไปอย่างคาดหวัง

และ 4. ต้องทำงานแข่งกับเวลาและ 5. เห็นภาพความทุกข์ยากของผู้คนจำนวนมาก ทั้งผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ทำให้รู้สึกผิดที่ช่วยเหลือไม่ได้เท่าที่หวัง    สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้ผู้ช่วยเหลือเกิดความเครียด โดยอาจมีอารมณ์หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ  ร้องไห้บ่อยขึ้น หรือฝันถึงเหตุการณ์ร้ายซ้ำๆ  ซึ่งเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ และจะค่อยๆหายไปเอง ใน 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการเหล่านี้รบกวนการทำงาน หรือสร้างความเครียด ควรปรึกษาจิตแพทย์ อย่ากังวลหรืออาย หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง   เพราะจะทำให้การทำงานดีขึ้น

ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม ซึ่งรีบเดินทางกลับไปช่วยเหลือประชาชนจากงานประชุมวิชาการสุขภาพจิตครั้งที่ 16 ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า วิธีการดูแลจิตใจ ที่จะไม่ให้เกิดความเครียดสะสมหลังปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 

ขอแนะนำให้ใช้หลักการ “ผนึกกำลัง เสริมแรงใจ ตั้งสติ สร้างความรู้สึกปลอดภัยและความหวัง ”  จะเป็นทางออกได้ดี มี  8 ประการดังต่อไปนี้ 1. ยึดการทำงานที่ปลอดภัย  ทำงานเป็นกะเวลาที่แน่นอน  สับเปลี่ยนกำลังถ้างานต้องดำเนินต่อเนื่อง   เพื่อลดความล้าทางกายที่ส่งผลทางจิตใจ  2.ให้พักยกหรืออยู่กับความสงบบ้าง

โดยพักผ่อน นอนหลับ กินอาหารให้ครบทุกมื้อ ออกกำลังกายเบาๆและทำกิจกรรมที่ชอบ  เพื่อสร้างพลังให้ทำงานช่วยเหลือได้ดีขึ้น  หากไม่มีเวลาขอแนะนำให้หลับตาชั่วครู่  หายใจเข้าออกช้าๆ ผ่อนคลาย หรือฟังเพลง ปิดทีวีสักครู่

3.ทบทวนการปฏิบัติงานหลังจากเสร็จสิ้นการทำงาน เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกว่ามีคุณค่าที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น  4. แบ่งปันประสบการณ์ ที่เกิดขึ้นของตนเองกับผู้อื่น อย่าเก็บไว้คนเดียว เช่น เพื่อน ครอบครัว ผู้ร่วมงาน  5. สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดูแลและเข้าใจซึ่งกันและกัน  เช่นคำขอบคุณ การเชียร์กันเอง  จะช่วยคลี่คลายอารมณ์หงุดหงิดได้มาก 

6.มีความหวังที่เหมาะสมในการได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ถึงแม้ว่าไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ 7. หากรู้สึกว่าตัวเองไม่ไหว   ขอให้นั่งพักหรือคุยกับหัวหน้าทีมหรือผู้บังคับบัญชาเพื่อขอความช่วยเหลือ  ซึ่งไม่ใช่เป็นการยอมแพ้หรือไม่เอาไหน   แต่เป็นการทำให้พลังการทำงานดีขึ้น

และข้อสำคัญที่สุด คือ  8. “ในกรณีที่ผู้ช่วยเหลือเป็นผู้ประสบภัยฯ ด้วย  อาจรู้สึกสองจิตสองใจ ระหว่างหน้าที่และเรื่องส่วนตัว ทำให้ไม่แน่ใจระหว่างการเสียสละเพื่อทำงาน  ในขณะที่ตนเองไม่มีเวลาไปดูแลความสูญเสียของตนเองและครอบครัว  ขอแนะนำให้พิจารณาความจำเป็นและเร่งด่วน หากว่าจำเป็นที่จะต้องไปดูแลคนในครอบครัวโดยด่วน   ควรทำหน้าที่ของการดูแลคนในบ้านก่อน”

“ หากยังมีอาการนอนไม่หลับเป็นเวลานานจนทำงานไม่ได้  เครียดหงุดหงิดมากเกือบตลอดทั้งวัน ถึงแม้เวลาผ่านไปมากกว่า 2 อาทิตย์ หรือมีความรู้สึกสิ้นหวัง  หรือมีความคิดจะฆ่าตัวตายแทบตลอดเวลา ขี้ลืมมาก  ไม่มีสมาธิกับการทำงานเลย นึกถึงเรื่องการสูญเสียที่เคยผ่านมา ในอดีตบ่อยครั้ง    ขอให้รีบปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับการดูแลรักษาทันที  เนื่องจากมียารักษาหายขาด  อย่าปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรัง” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวในตอนท้าย 

เรื่องน่าสนใจ