ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่น รายงานว่า  จากการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน “PAYA SLIM PLUS” ที่มีการโฆษณาและขายผ่านทางเฟสบุ๊ค อย่างต่อเนื่อง และตรวจพบสารไซบูทรามีน อย. จึงร่วมกับ บก.ปคบ. และ สสจ.ปทุมธานี ทำการสืบสวนขยายผลไปยังพื้นที่ จ.ปทุมธานี

พบว่ามีการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์ระบุเลขสารบบอาหารและทะเบียนยาอยู่บนกล่องเดียวกัน จึงได้ยึดของกลางจำนวนมาก มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เตือนผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากตรวจพบการกระทำผิดจะถูกดำเนินคดีอย่างหนัก มีโทษทั้งจำและปรับ

ส่วนผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขทะเบียนยาและเลขสารบบอาหาร รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นได้ทาง Oryor Smart Application เพื่อความปลอดภัยก่อนตัดสินใจซื้อ

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล  รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ ตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ต.ประเสริฐ พัฒนาดี ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์  ผกก.4 บก.ปคบ. พ.ต.ท.อภิชัย ไลออน พ.ต.ท.จตุรงค์ ผลเกิด รอง ผกก.4 บก.ปคบ. พ.ต.ต.เกียรติคุณ การะเกษร สว.กก.4 บก.ปคบ.

 และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากนโยบายรัฐบาลในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการสั่งซื้อสินค้า

รวมทั้งการกระทำความผิดอาญาอื่นทางอินเทอร์เน็ต เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร PAYA SLIM PLUS มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 – 2560

พบข้อมูลว่ามีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร PAYA SLIM PLUS ทางเฟสบุ๊ค เช่น  Parichat wichain payaslimplus , PAYA Slimplus Thailand  ซึ่งมีการระบุเลขสารบบอาหาร อย. 13-1-09849-1-0178 และเลขทะเบียนยา G 493/56 หรือ G 567/51

ต่อมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้แจ้งเตือนภัยทางเว็บไซต์ www.tumdee.org/alert ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร PAYA SLIM PLUS เลขสารบบอาหาร อย. 13-1-09849-1-0178 ผู้จำหน่าย payaherb เลขที่ 263/166 หมู่บ้านภูมิศิริ

ตำบลลำผักกูด อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ตรวจพบสารไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่ได้ยกเลิกทะเบียนตำรับยาแล้ว อย. และ บก.ปคบ.

จึงได้สืบสวนขยายผล พบว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของ บริษัท พญา เฮลตี้ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร PAYA SLIM PLUS ขณะที่เข้าตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์ระบุเลขสารบบอาหาร และเลขทะเบียนยาของผู้รับอนุญาตรายอื่นบนกล่องผลิตภัณฑ์เดียวกัน โดยมี นาย สุธี อาจดี เป็นผู้นำการตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ ที่โฆษณาลดน้ำหนักจำนวนมาก ดังนี้

– ผลิตภัณฑ์ PAYA SLIM PLUS มีการแสดงเลขสารบบอาหาร 13-1-09849-1-0178 และเลขทะเบียนยา 

G 493/56 บนกล่องผลิตภัณฑ์เดียวกัน จำนวน 4 กล่อง

– ผลิตภัณฑ์ PAYA Dietary Supplemant Product มีการแสดงเลขสารบบอาหาร 13-1-22459-5-0017 และเลขสารบบอาหาร 13-1-15250-2-0023 บนกล่องผลิตภัณฑ์เดียวกัน จำนวน 11,640 กล่อง

– แคปซูลสีชมพูบรรจุในแผง Blister จำนวน 7,000 แผง

– เม็ด Soft gel สีส้มบรรจุในแผง Blister จำนวน 500 แผง

 – ผลิตภัณฑ์ Paya dietary supplement product บรรจุในซองสีน้ำตาล เลขสารบบอาหาร 13-1-15250-2-0023 จำนวน 149 ซอง

– ผลิตภัณฑ์ ซีเนลล่า เอ็กซ์ตร้า สเลน (ZnellaXtraSlen) จำนวน 61 กล่อง

– Logo กล่องผลิตภัณฑ์ Paya (ขนาดใหญ่) จำนวน 1 ชิ้น

– สบู่มะละกอ Paya soap (Finish Product) เลขจดแจ้ง 10-1-5714829 จำนวน 446 กล่อง

– สบู่ก้อนสีขาว ปั๊มตรา PAYA จำนวน 530 ก้อน

– กล่องบรรจุภัณฑ์ สบู่มะละกอ Paya soap จำนวน 1,772 ชิ้น เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางและส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมมูลค่าของกลางกว่า 5 ล้านบาท

ส่วนผลดำเนินคดี ในเบื้องต้นแจ้งข้อหา ดังนี้

​1. จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

​2. จำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

​3. เครื่องสำอางที่แสดงว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้จดแจ้งไว้ซึ่งมิใช่ความจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

​4. เครื่องสำอางที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้อาจมีข้อกล่าวหาอื่นซึ่งอาจจะมีโทษมากขึ้น หากตรวจพบสารไซบูทรามีน (Sibutramine) หรือยาแผนปัจจุบันอื่น จะถือว่าเป็นการจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย.จึงขอแจ้งเตือนผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย การนำเลขสารบบอาหารและเลขทะเบียนยาของผู้อื่นมาใช้จัดเป็นอาหารและยาปลอม จะได้รับโทษอย่างหนัก และการขายยาผ่านอินเทอร์เน็ตถือว่าผิดกฎหมาย เพราะตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องสถานที่ขายยาว่าต้องได้รับอนุญาต เพราะยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป และไม่มีการอนุญาตให้ขายยาทางสื่อออนไลน์

การซื้อจึงต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากเภสัชกรโดยตรง นอกจากนี้จะถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาด้วย หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดี มีโทษหนักทั้งจำและปรับ ในส่วนของผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขทะเบียนยาและเลขสารบบอาหาร รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ได้ทาง Oryor Smart Application เพื่อความปลอดภัยก่อนตัดสินใจซื้อ

หากพบเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่าย ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ หรือ สายด่วน บก.ปคบ 1135 เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด

เรื่องน่าสนใจ