เนื้อหาโดย : โดดเด่นดอทคอม
หลายคนต้องเคยมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก (Benign fasciculation syndrome) ทั้งแขน ขา ใบหน้า เปลือกตา (หนังตา) คงสงสัยว่าตนเองมีอาการอะไรผิดปกติหรือเปล่า อาการเหล่านี้มักมีการกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว และเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ 1-2 วินาทีเท่านั้น ซึ่งหากนานๆ เป็นทีถือว่าเป็นอาการปกติ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยๆ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจบ่งบอกถึงอาการผิดปกติทางเส้นประสาทและกระดูกไขสันหลังได้
การกระตุกของกล้ามเนื้อ หรือ Fasciculation เกิดจากการที่กล้ามเนื้อมัดนั้นๆอยู่ในสภาพที่อ่อนแรง เนื่องจากการหมุนเวียนพลังงานไม่พอ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ หดรัดตัวอยู่นาน กล้ามเนื้อที่มักเกิดการกระตุกได้แก่
1. กล้ามเนื้อที่มีขนาดเล็ก เพราะยิ่งมีขนาดเล็ก พลังงานที่หมุนเวียนก็ต่ำตาม เช่น กล้ามเนื้อตา, ใบหน้า หรือนิ้วมือ
2. กล้ามเนื้อที่ต้องหดรัดตัวตลอดเวลา เพื่อรักษาการทำงานของอวัยวะนั้น เช่น กล้ามเนื้อขา, กล้ามเนื้อแขนที่ต้องหดตัวตลอดเวลาเพื่อรักษาท่าทาง (posture)
กล้ามเนื้อที่พบบ่อยที่สุดที่ชอบกระตุกก็ “ลูกตา” มักเกิดจากการที่เราเพ่งสายตานาน เช่นการใช้สายตาจับจ้องอะไรบางอย่าง ให้เป็นจุดเดียวกัน โดยเฉพาะการอ่านอะไรใกล้ๆ ทั้งการจ้องหนังสือ หรือคอมพิวเตอร์ การที่เราเพ่งนี่แหละที่ทำให้กล้ามเนื้อตาต้องเกร็งเพื่อปรับให้ลูกตาจุดที่มองตลอด เลยเป็นเหตุให้เกิดการกระตุก แต่หากเป็นการมองไกลๆ ที่ลูกตาไม่ต้องมองเพ่ง ทำให้กล้ามเนื้อไม่จำเป็นต้องหดรัด จึงไม่เกิดอาการเหล่านี้
อีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ คือจากการตื่นนอนใหม่ การกระตุกของแขน หรือขา เนื่องจากการที่เรานอนหลับอยู่ในภาวะ “หลับลึก” จะเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อลายที่อยู่ในร่างกายจะมีความตึงตัวอยู่ ระดับหนึ่งแม้ว่าจะอยู่ในขณะพักก็ตาม โดยเฉพาะการนอนกลางวัน ดังนั้นถ้าเราตื่นมาในช่วงนี้อาจจะทำให้เกิดกล้ามเนื้อกระตุก หรือไม่ค่อยมีแรงได้ซักระยะนึง การพักผ่อนน้อยก็มีส่วน ส่วนใหญ่จะต้องนอนน้อยจริงๆ เช่นนอนเพียง 2-3 ชม.
หากเกิดอาการกระตุกต่อเนื่อง จนส่งผลให้ใช้ชีวิตประจำวันลำบาก ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเกิดจากอาการผิดปกติของระบบประสาท และอาจเตือนถึงโรคร้าย เช่น โรคอัมพาต สมองอักเสบ สมองขาดออกซิเจน โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคตับ โรคไต ซึ่งแพทย์ก็จะพิจารณาตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้การจะตรวจสืบค้นอะไรเพิ่มเติมจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วย ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ของไต หรือการตรวจภาพสมอง เพื่อดูรอยโรคในสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ เป็นต้น
ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อกระตุกที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันจะได้รับยาที่ควบคุมอาการกระตุก เช่น ยานอนหลับ หรือยากันชัก บางกรณีที่อาการกระตุกเป็นเฉพาะที่ เช่น โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก การฉีดยาโบทูไลนุ่มทอกซิน หรือ โบทอก (Botulinum toxin: Botox) เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อก็ได้ผลดี
แต่กรณีมีอาการกระตุกทั่วตัว หรือไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจพิจารณารักษาอาการกระตุกด้วยการผ่าตัด ฝั่งเครื่องกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า (Deep brain stimulation)
การป้องกันอาการกล้ามเนื้อกระตุกนั้น ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นอาการปกติของร่างกาย ยกเว้นอาการกระตุกรัวๆ โดดเด่นแนะขอแนะนำให้เน้นการออกกำลังกายและการการพักผ่อนที่เพียงพอ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง ลดการตึงเครียดในแต่ละวัน หากต้องนั่งทำงานนานๆ หรือยืนนานๆ ให้เปลี่ยนท่าทางยืดเส้นบ้าง เพราะไม่ใช่แค่ป้องกันอาการกระตุกของกล้ามเนื้อแล้วยังป้องกันโรคต่างๆได้ด้วยนะ
ข้อมูลจาก : หัวหมอ, slideshare