เวลาที่เรารับประทานอาหาร อาหารที่เราทานเข้าไปจะเคลื่อนผ่านช่องปากลงไปยังหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ตามลำดับ หากระบบทางเดินอาหารของเราปกติดี อาหารที่รับประทานเข้าไปก็จะถูกย่อยและดูดซึมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่ถ้าเมื่อใดระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติไปเราก็จะมีอาการอาหารไม่ย่อย หรือปวดท้องได้ อาการเหล่านี้อาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ แต่บางครั้งอาการปวดท้องก็อาจมาจาก นิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน และบ่อยครั้งโรคนิ่วในถุงน้ำดีมักถูกมองข้ามไป จนกระทั่งมีอาการอักเสบของถุงน้ำดี และมีผลเสียอื่นๆตามมา
ผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อย อาจมีอาการ จุกเสียดแน่นบริเวณลิ้นปี่ หรือกระเพาะอาหาร มีอาการปวดที่ช่องท้องส่วนบน รู้สึกมีลมในกระเพาะอาหาร ท้องอืดโตขึ้น หรือมีอาการอิ่มแน่นท้องมากหลังรับประทานอาหาร บางครั้งอาจจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน หรือ น้ำหนักตัวลดได้ แต่เมื่อใดที่มีอาการแบบเฉียบพลัน ร่วมกับอาการเหงื่อแตก ใจสั่น หายใจลำบาก ให้พึงตระหนักว่าอาจเป็นอาการของกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน และจำเป็นต้องพบแพทย์โดยเร็ว
อาการจุกเสียดท้องส่วนบน อาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ แต่บางครั้งอาการปวดท้องก็อาจมาจาก นิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน
สาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อยหรืออาการจุกแน่นลิ้นปี่ (Dyspepsia) โดยทั่วไปเรามักจะนึกถึงแต่โรคของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ อาทิเช่น
โรคกรดไหลย้อน โรคแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ โรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome) และมักจะมองข้ามโรคของระบบอื่นแม้กระทั่ง นิ่วในถุงน้ำดี โดยทั่วไปหากท่านมีอาการของภาวะอาหารไม่ย่อย และได้ทำการรักษาโดยการใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาเคลือบกระเพาะ ยาช่วยกระตุ้นการบีบตัวของทางเดินอาหารแล้ว อาการยังคงอยู่หรือแย่ลง พึงระลึกไว้เสมอว่าท่านอาจมีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ อาการปวดท้องจากนิ่วในถุงน้ำดี (Biliary Colic) จะมีลักษณะเฉพาะที่อาจสังเกตได้ดังนี้
ในการประเมิณผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อย แพทย์ผู้ทำการรักษาจะวินิจฉัยหาสาเหตุจาก ประวัติ ลักษณะของอาการ และการตรวจร่างกาย หากสงสัยว่าอาจเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี การตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนบน จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย ซึ่งการวินิจฉัยด้วยอัลตราซาวน์ เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว ราคาไม่แพงและไม่เจ็บ เพื่อช่วยค้นหาสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อย และหากพบว่านิ่วในถุงน้ำดีมีความสัมพันธ์กับอาการดังกล่าวอย่างชัดเจน แพทย์จะให้คำแนะนำในการรักษาด้วยการผ่าตัดถุงน้ำดี ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมวิธีผ่าตัดโดยการส่องกล้อง ซึ่งมีความปลอดภัย และแผลเล็ก ผู้ป่วยสามารถพักฟื้นและกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน อีกทั้งยังช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของอาการปวดจากนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆจนมีการอักเสบซ้ำๆ อาจทำให้ถุงน้ำดีอักเสบถึงขั้นเรื้อรังและเพิ่มอันตรายมากขึ้นในอนาคต
หากท่านสงสัยว่าตนเองมีอาการปวดท้องที่มีลักษณะจำเพาะที่อาจเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี ท่านสามารถปรึกษาแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อพิจารณาการตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนบนได้ เพื่อเป็นการค้นหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ และเพื่อป้องกันผลเสียที่จะตามมาของนิ่วในถุงน้ำดีที่ก่อให้เกิดอาการได้
ขอบคุณข้อมูลจาก นายแพทย์วุฒิวัธ อนุพรรณสว่าง