ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกหนึ่งอย่างที่หลายคนอยากรู้คือ ราชยานของหลวง เรียกว่า พระยาน,พระยานมาศ , พระราชยาน หากจะเอาเข้าใจง่ายๆ ก็คือ คานหามพระโกศ ,พระบรมศพ ออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
โดย อาจารย์อ๊อฟ สรพล ถีระวงษ์ กรรมการบริหารสมาคมนิยมไทย และกลุ่มมรดกสยาม เปิดเผยว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการสร้างราชยานหลายองค์ เข้าใจว่าสร้างตามแบบแผนราชประเพณีอยุธยา แต่ได้ดัดแปลงและปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลสมัยและสภาพการใช้สอย คือยังคงมีลักษณะอยู่ในเครื่องยานคานหาม 4 ประเภท ได้แก่ 1.ยานมาศ 2.เสลี่ยง 3.วอ 4.คานหาม รวมพระราชยานที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน 30 องค์
อาจารย์อ๊อฟ สรพล ถีระวงษ์
ในสมัยกรุงศรีอยุธยากำหนดศักดิ์และการใช้งานพระราชยานไว้ในกฎมณเฑียรบาลตามพระราชอิสริยยศว่า พระราเชนทรยาน คือพระราชยานสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน
ส่วนศักดิ์และการใช้งานพระราชยานในสมัยรัตนโกสินทร์แบ่งตามพระราชอิสริยยศหรือลำดับชั้นของเจ้านายและบุคคลที่ได้รับพระราชทานในส่วนของพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชยานหลายองค์เรียงลำดับศักดิ์ดังนี้พระที่นั่งราเชนทรยาน พระราชยานพุดตาน (ต่าง ๆ) พระราชยาน (ต่าง ๆ) พระยานมาศ พระเสลี่ยง และพระวอ
ในพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ มีบันทึกในพระราชพงศาวดารว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(ร.1) ทรงให้สร้างพระมหาพิชัยราชรถตามแบบพระราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา คือมีขนาดสูง 1,120 เซนติเมตร (11.20 เมตร) ยาว 1,530 เซนติเมตร (15.30 เมตร) เพื่อใช้ในการพระบรมศพสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก ใน พ.ศ. 2338
ต่อมาสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดีสิ้นพระชนม์ ก็โปรดให้อัญเชิญพระโกศทรงบนพระมหาพิชัยราชรถออกพระเมรุอีกครั้งหนึ่ง นับจากนั้นพระมหาพิชัยราชรถก็ถูกกำหนดให้เป็นราชรถเฉพาะอัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินตลอดมา
นอกจากพระมหาพิชัยราชรถแล้วยังมีราชรถที่สำคัญคือเวชยันตราชรถเป็นราชรถอีกองค์หนึ่งที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออัญเชิญพระบรมศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ในงานพระเมรุคู่กับสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี
ซึ่งทรงใช้พระมหาพิชัยราชรถ จากนั้นเวชยันตราชรถก็ถูกใช้เป็นราชรถรองในงานพระเมรุพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่อมาจนถึงงานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5)
หลังจากงานพระเมรุมาศ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระมหาพิชัยราชรถชำรุดในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (ร.8) จึงใช้เวชยันตราชรถเป็นรถทรงพระบรมศพ
โดยไม่มีราชรถรองในริ้วขบวน และในการพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ก็ใช้เวชยันตราชรถเป็นรถอัญเชิญพระบรมศพเช่นกัน
ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้บูรณะซ่อมแซมเสริมความมั่นคงแก่พระมหาพิชัยราชรถได้สำเร็จ และอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ดังนั้นพระมหาพิชัยราชรถจึงถูกนำมาใช้อีกครั้งในพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พ.ศ. 2539) พิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (พ.ศ. 2551)
และพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ (พ.ศ. 2555)
ในการพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นอีกครั้งที่พระมหาพิชัยราชรถ ราชรถที่มีศักดิ์สูงสุดจะถูกนำออกมาใช้ตามโบราณราชประเพณีที่สืบต่อมาตั้งแต่รัชสมัยพระปฐมบรมราชจักรีวงศ์