สนามบินนานาชาติโกชิ สนามบินแห่งแรกของโลกที่ใช้พลังงานจากแผงโซล่าเซลล์มาทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในสนามบินทำงานได้ อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศอันเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนอีกด้วย
สนามบินนานาชาติโกชิ ในประเทศอินเดีย ขณะนี้ใช้ไฟฟ้าที่เกิดจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วทั้งสนามบิน และจะก้าวขึ้นเป็นสนามบินที่ใช้แต่พลังงานธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แบบ หวังช่วยลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ เนื่องจากประเทศอินเดียติด 1 ใน 10 ประเทศตัวการที่ทำลายชั้นบรรยากาศระดับต้นๆ
ฟาร์มโซลาเซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าป้อนสู่สนามบินโกชิ ใช้แผงโซล่าเซลล์กว่า 46,150 แผง ครอบคลุมพื้นที่ราว 180,000 ตารางเมตร โครงการดังกล่าวใช้เวลาในการสร้างเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ด้วยจำนวนเงิน 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 214 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจำนวนเงินดังกล่าวจะมากกว่ารายได้ที่สนามบินหาได้รวมกัน 5 ปีก็ตาม แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเนื่องจากแผงโซล่าเซลล์จะใช้งานได้นาน 25 ปี โดยไม่ต้องเปลี่ยนใหม่
การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้ราว 300,000 ตันตลอดอายุการใช้งานของแผงโซล่าเซลล์
จากคำแถลงการณ์จากสนามบินนานาชาติโกชิ บอกว่า ปัจจุบัน สนามบินนานาชาติโกชิ มีพลังงานไฟฟ้าใช้ราว 50,000 – 60,000 ยูนิตต่อวัน ซึ่งสามารถใช้ได้กับระบบไฟฟ้าทั้งหมดภายในสนามบิน จึงบอกได้ว่าสนามบินโกชิใช้พลังงานสะอาดแบบสมบูรณ์แบบ
ทั้งนี้ก็คาดว่าสนามบินโกชิจะเป็นต้นแบบให้กับสนามบินอื่นๆได้เริ่มต้นแนวคิดนำแนวคิดนี้มาใช้ ถึงแม้บางประเทศจะไม่ได้รับแสงอาทิตย์โดยตรงแบบประเทศอินเดีย แต่การหาพลังงานทางเลือกมาใช้ให้เหมาะกับแต่ละประเทศก็ดูเป็นทางเลือกที่ดี
สนามบินนานาชาติโกชิ ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศอินเดีย เป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ และยังเป็นสนามบินแห่งแรกของโลกที่ใช้พลังงานจากแผงโซล่าเซลล์