นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันสายตาโลก
ปีนี้ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญเรื่องสายตา โดยมีนโยบายขจัดปัญหาตาบอดและสายตาเลือนรางให้หมดไปภายในพ.ศ.2563
ล่าสุดในพ.ศ. 2553 ทั่วโลกมีผู้ที่มีปัญหาสายตาเลือนราง 285 ล้านคน สาเหตุหลักเกิดมาจากต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม และเบาหวานขึ้นตา
ในส่วนประเทศไทย ผลสำรวจสุขภาพสายตาครั้งล่าสุดในปี 2550 พบคนไทยตาบอด 369,613 คน สาเหตุประมาณร้อยละ 70 เกิดมาจากต้อกระจก ซึ่งรักษาได้โดยการผ่าตัดเปลี่ยนใส่เลนซ์แก้วตาเทียม ก็จะสามารถกลับมามองเห็นได้ชัดเจนใกล้เคียงกับปกติ
ในการรณรงค์ป้องกันตาบอดจากตาต้อกระจก กรม สบส.ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเชี่ยวชาญโรคตาโดยเฉพาะ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดหลักสูตรอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม.ทั่วประเทศจำนวน 250,000 คน จังหวัดละประมาณ 3,200 คน เพื่อร่วมตรวจคัดกรองสายตาเบื้องต้นแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคนที่อยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน
โดยใช้เครื่องมืออย่างง่าย เพื่อค้นหาผู้ที่มีสายตาผิดปกติให้เข้าสู่ระบบดูแลรักษาอย่างทันการณ์ โดยทำงานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์ที่อยู่ในเขตบริการสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ
“ผลการดำเนินงานในปี 2559 ได้ผลดีมาก ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศได้รับการตรวจคัดกรองสายตารวม 6 ล้านกว่าคน พบผู้มีปัญหาการมองเห็น ไม่สามารถนับนิ้วที่ระยะห่าง 3 เมตรได้ รวมทั้งหมด 385,546 คน โดยมีปัญหาสายตาข้างเดียวร้อยละ 48 และมีปัญหาสายตาทั้ง 2 ข้างร้อยละ 52 ได้ส่งต่อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาลชุมชนดำเนินการตรวจต่อ หากพบเป็นต้อกระจกจะได้รับการรักษาโดยจักษุแพทย์” นายแพทย์ประภาสกล่าว
นายแพทย์ประภาสกล่าวต่อไปว่า วิธีการตรวจสายตาอย่างง่ายที่อสม.ใช้ตรวจคัดกรองนี้ จะใช้แผ่นอักษรรูปตัวอี (E) ในภาษาอังกฤษ ซึ่งสามารถใช้ได้ทุกที่ โดยให้ผู้ที่ทำการทดสอบยืนห่างจากอักษร 3 เมตร และทดสอบสายตาทีละข้าง
หากเป็นผู้ที่มีสายตาปกติจะสามารถบอกทิศทางของขาตัวอีได้ถูกต้องทุกครั้ง หากเป็นผู้ที่มีสายตาไม่ปกติหรือมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกและตาบอด จะบอกทิศทางของตัวอีได้ถูกต้องไม่เกิน 4 ครั้ง หรือมองไม่เห็นเลย
สำหรับอาการต้อกระจกได้แก่ สายตาขุ่นมัวลงเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง เห็นสีจางลงหรือผิดเพี้ยนไป รู้สึกว่าแสงจ้ากว่าปกติ การมองเห็นตอนกลางคืนแย่ลง มองเห็นภาพซ้อน หากประชาชนมีอาการที่กล่าวมา ขอให้ปรึกษาอสม.ใกล้บ้าน และรับการตรวจสอบเบื้องต้นได้
ทั้งนี้ในการป้องกันโรคตาต้อกระจก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน จะต้องคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนประชาชนทั่วไปขอให้ปฏิบัติตัวเพื่อถนอมสายตา โดยรับประทานอาหารที่บำรุงสายตาได้แก่อาหารประเภทที่มีวิตามินเอสูง
เช่น ฟักทอง แครอท ผักบุ้ง ผักใบเขียวต่างๆ เป็นต้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สวมแว่นกันแดดเมื่อต้องอยู่กลางแดดจ้าเพื่อลดความแรงของแสงที่อาจทำอันตรายต่อตา ไม่ควรใช้สายตาติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมงโดยไม่พักสายตา
ภาพจาก กระทรวงสาธารณสุข