ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงกรณีพบสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ (ฟอร์มาลิน) ในอาหาร ว่า ฟอร์มาลินมีการใช้ทั้งในระดับอุตสาหกรรม การแพทย์ และปศุสัตว์ แต่ไม่อนุญาตให้นำมาใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพ
โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดเป็นวัตถุห้ามใช้ ตามประกาศกระทรวง ใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 หากมีการใช้จะจัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจอย่างสม่ำเสมอยังพบการละเมิดกฎหมายเฉลี่ยร้อยละ 5 โดยพบว่า การใส่สารปนเปื้อนลงไปเกิดขึ้นได้จากหลายส่วน ทั้งการขนส่ง โรงงานผลิตแปรรูป และ ร้านค้า ทำให้การตรวจสอบยังทำได้ยาก
ขณะนี้แหล่งที่พบส่วนใหญ่คือร้านค้า ซึ่ง อย.ได้เร่งตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ที่พบปัญหามาก คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีโครงการรณรงค์ให้ความรู้ผู้ค้าและประชาชน เพื่อไม่ให้เติมสารที่เป็นอันตรายลงไปในอาหาร
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า การควบคุมการใช้สารฟอร์มาลินมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย อย.จะควบคุมโดยห้ามเติมลงในอาหาร สำหรับการใช้ในทางการแพทย์จะมีความเข้มข้นต่ำ ซึ่งกำลังจะมีการยกระดับให้เป็นวัตถุห้ามใช้ระดับ 4
คือ ไม่ให้มีในครอบครองต่อไป ส่วนอาการหลังได้รับสารฟอร์มาลีนผ่านการรับประทานนั้น หากได้รับในปริมาณมาก จะทำให้อาเจียน ท้องร่วง ปวดท้อง เป็นพิษต่ออวัยวะภายใน และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากได้รับเข้าไปผ่านการหายใจ จะทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย นอกจากนี้ ฟอร์มาลินยังเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อได้รับสารนี้เป็นเวลานานๆ ต่อเนื่องกัน
“ผู้ใช้สารนี้ในทางที่ผิดเองถือว่าความเสี่ยงเช่นกัน ส่วนผู้บริโภคหรือผู้รับอาหารมาขายต่อ สามารถทดสอบได้ด้วยการใช้ชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีราคาไม่แพงและสามารถใช้ได้หลายครั้งมาทดสอบก่อน หากพบการปนเปื้อนก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดหรือสายด่วนอย.ได้” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
ที่มา ผู้จัดการ