เนื้อหาโดย Dodeden.com
แมลงก้นกระดกเป็นแมลงที่น่ากลัว และเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในตอนนี้ เพราะพิษของมันค่อนข้างร้ายแรง สามารถทำให้ร่างกายบาดเจ็บ เป็นแผลผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นคันอักเสบได้ และยังใช้ระยะเวลาในการรักษานานอีกด้วย
โดยมีผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อว่าคุณ Aoy Aoy Aoy ได้ออกมาแชร์เรื่องราว และโพสต์เตือนคุณพ่อคุณแม่หลายท่านให้ดูแลลูกน้อยให้ดี อยู่ให้ห่างจากแมลงก้นกระดก หลังลูกน้อยของเธอโดนพิษของแมลงก้นกระดำ จนร่างกายมีผื่นคัน และอักเสบ วันนี้โดดเด่นดอทคอมเลยจะขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักวิธีการป้องกัน และระมัดระวังแมลงก้นกระดกกันให้ดี
ขอขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค Aoy Aoy Aoy
แมลงก้นกระดก หรือ ด้วงก้นกระดกนั้น เป็นแมลงขนาดเล็กที่มีประมาณ 7-8 มม. เท่านั้น แมลงชนิดนี้มักจะงอส่วนท้ายเมื่อเกาะอยู่กับพื้น จึงเป็นที่มาของชื่อว่าแมลงก้นกระดำ โดยขณะนี้พบว่ามีกระจายอยู่ทั่วโลก และใช้ชีวิตได้ดีในเขตร้อนชื้น โดยเฉพาะพงหญ้าที่มีความชื้น อีกทั้งยังชอบออกมาบินอยู่บริเวณไฟ และแสงสว่างตามบ้านเรือน จะพบเห็นกันได้มากในช่วงปลายฤดูฝน
แมลงชนิดนี้สามารถปล่อยสารที่เรียกว่า Pederin ออกมา โดยสารชนิดนี้จะทำให้ผิวหนังเกิดความระคายเคือง ทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ที่สัมผัสโดน จนทำให้ผิวหนังมีอาการแสบร้อน และคันได้เล็กน้อย โดยอาการผื่นผิวหนังจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีที่สัมผัส รวมถึงรอยไหม้ที่เป็นลักษณะทางยาวเช่นกัน โดยผื่นจะขึ้นลักษณะเดียวกันกับการเป็นงูสวัด ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าอาจจะเป็นงูสวัดได้ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เมื่อโดนพิษแมลงก้นกระดำนั้น จะไม่มีอาการปวดร้าวตามแนวเส้นประสาทเหมือนกับอาการของงูสวัดนั่นเอง
ซึ่งผื่นที่เกิดขึ่นจากการสัมผัสแมลงก้นกระดำนั้น ผื่นหรือแผลจะตกสะเก็ดและหายไปเองภายใน 7-10 วัน อาจจะถึงรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง แต่จะไม่เกิดเป็นรอยแผลเป็นนอกจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่บริเวณผื่นเดิมทำให้ผื่นอาจจะหายช้าลงนั่นเองและอาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดเป็นแผลเป็นหลังจากผื่นหายแล้วได้ สำหรับในรายที่ผื่นเป็นบริเวณกว้าง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
การดูแลรักษาหากถูกตัว แมลงก้นกระดก(Paederus dermatitis)
– หากสัมผัสถูกตัวของ “แมลงก้นกระดก” แล้ว ให้รีบล้างด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดนแมลง
– สังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ถ้าเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 2-3 วันไม่จำเป็นต้องทายาใด
– แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยการรักษาผื่นก็คือการให้ครีมสเตียรอยด์ทาในผื่นแดงระยะเริ่มแรก แต่ถ้าผื่นมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้างหรือแผลไหม้ควรทำการประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้งจนแผลแห้ง ร่วมกับพิจารณายาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมและการรับประทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันในผู้ป่วยบางราย
คำแนะนำในการป้องกัน “แมลงก้นกระดก”
– ไม่ควรจับตัวแมลงมาเล่น
– ควรหลีกเลี่ยงการปัดหรือบีบตัวแมลงที่มาเกาะตามตัว
– ควรใช้วิธีเป่าแมลงให้หลุดออกไปเองโดยไม่ต้องจับโดนตัวแมลง ก่อนนอนควรปัดที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ก่อน เพื่อป้องกัน
– ควรปิดประตูตู้เสื้อผ้า ประตูและหน้าต่างห้องนอนให้มิดชิดทั้งกลางวันและกลางคืน
– ในช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเฉพาะเท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะควรปิดไฟห้องนอน เพราะ “แมลงก้นกระดก” มักชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้าน