ที่มา: kapook

เว็บไซต์บีบีซี รายงานข่าว เรือนจำหลายแห่งที่ประเทศเนเธอร์แลนด์กำลังอยู่ในวิกฤตขาดแคลนนักโทษอย่างหนัก และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา

หากพูดถึงเรือนจำ หลายคนคงนึกภาพสถานที่ซึ่งไม่มีใครอยากเข้าไป เนื่องจากในนั้นเต็มไปด้วยผู้ที่มีคดีจากถูกจับกุมและส่งมาอยู่รวมกันอย่างเบียดเสียด ซึ่งในหลายประเทศก็เกิดภาวะนักโทษแออัด จนตามมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยาเสพติดหรือการก่อจลาจลในเรือนจำ

indymedia1

อย่างไรก็ดี เหตุผลดังกล่าวใช้ไม่ได้กับประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยก่อนหน้านี้ “ดินแดนกังหันลม” มีปัญหานักโทษแออัดเป็นอันดับต้น ๆ ของยุโรป แต่ในช่วงสิบปีให้หลังปรากฏว่าจำนวนคนที่ติดคุกลดลง ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะมีคนโดนคุมขังแค่ 57 คน จากสัดส่วน 100,000 คนเท่านั้น และในปีก่อน มีผู้ถูกคุมขังลดลงถึง 43%

โดยสาเหตุดังกล่าว มาจากการปฏิรูประบบเรือนจำ เช่น การช่วยนักโทษแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด หากนักโทษติดยาเสพติด นักโทษจะถูกส่งตัวไปบำบัด  หากนักโทษติดหนี้จนก่ออาชญากรรม จะส่งนักโทษไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการหนี้ หากนักโทษมีปัญหาด้านอารมณ์ จะถูกส่งไปเข้าคอร์สบำบัดอารมณ์ นอกจากนี้ ยังมีการช่วยเหลือนักโทษในการประกอบอาชีพ เช่น การทำอาหาร เป็นต้น

indymedia3

นอกจากนี้ ผู้ที่กระทำความผิดในคดีเดิมซ้ำ จะถูกจำคุก 2 ปีและถูกส่งเข้าคอร์สที่วางไว้ จนทำให้มีน้อยกว่า 10% ที่จะกระทำความผิดซ้ำและกลับเข้าคุกใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี หากมาถึงขั้นต้องเข้าคุกจริง ๆ บรรยากาศในนั้นก็ไม่ใช่นรกเหมือนที่คิด ยกตัวอย่างเช่น ในเรือนจำ Norgerhaven ก็มีบรรยากาศที่ดีโดยที่ลานออกกำลังกายจะมีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 4 สนาม และมีต้นโอ๊ก โต๊ะปิกนิก เนตวอลเลย์บอล การที่นักโทษและผู้คุมได้รับอากาศบริสุทธิ์จะทำให้ทุกคนผ่อนคลายความเครียด

นอกจากนี้ นักโทษยังสามารถไปห้องสมุด คลินิก โรงอาหาร โดยที่ไม่ต้องมีผู้คุมเดินตาม ซึ่งจะช่วยให้นักโทษปรับตัวเข้ากับชีวิตปกติได้ง่ายขึ้นหลังจากที่พวกเขาพ้นโทษ

indymedia2

นอกจากนี้ การตรวจเข้มผู้ที่เดินทางผ่านเข้า-ออกสนามบิน Schiphol ก็น้อยลง โดยเมื่อปี 2005 ได้มีการตรวจเข้มผู้ที่ลักลอบขนยาเสพติด แต่ในตอนนี้ ตำรวจไปตรวจเข้มผู้ที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายและการค้ามนุษย์แทน

ทั้งนี้ นางมาเดลลีน ฟาน ทูเดนเบิร์ก อดีตผู้อำนวยการเรือนจำ กลับไม่เห็นด้วยกับมาตรการลดนักโทษ โดยที่เธอบอกว่า “ตำรวจก็เหนื่อยและงานก็มีเยอะเกินไป แล้วรัฐบาลทำอย่างไร ? ปิดเรือนจำ ! ฉันว่ามันเป็นอะไรที่น่าแปลกประหลาดมากทีเดียว”

สุดท้าย การที่ประเทศเนเธอร์แลนด์แทบไม่มีนักโทษ ก็หลีกหนีไม่พ้นที่เรือนจำหลายแห่งจะทยอยปิดไป โดยหลาย ๆ ที่ได้ปรับปรุงให้เป็นโรงแรมหรู รวมถึงโรงพยาบาล แต่สำหรับเรือนจำที่ยังเปิดอยู่ ล่าสุดพวกเขาก็ต้องหานักโทษมาเพิ่มเพื่อรักษางานเอาไว้ แม้จะเป็นการนำเข้าจากต่างแดนก็ตาม โดยเฉพาะประเทศนอร์เวย์ ที่มาใช้บริการฝากนักโทษไว้ที่นี่ถึง 234 คนเลยทีเดียว

indymedia6

เรื่องน่าสนใจ