เกร็ดความรู้เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๑ โดยที่ผ่านมา โปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 1 แก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ราชกิจจานุเบกษา หน้า ๑ เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๓๓ ข ๑๕ กันยายน ๒๕๕๙ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๑ แก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๙
ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
สำหรับ เหรียญรัตนาภรณ์ เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์อันเป็นบำเน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์ สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับพระราชทานผู้ที่มีความดีความชอบทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เดิมชื่อ เหรียญรจนาภรณ์ และเปลี่ยนชื่อเป็นเหรียญรัตนาภรณ์ในปี พ.ศ. 2416
เหรียญรัตนาภรณ์เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2412 สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในพระองค์และในการช่าง
เดิมชื่อ “เหรียญรจนาภรณ์” ซึ่งเป็นชั้นที่1 และ เหรียญบุษปมาลา ซึ่งเป็นชั้นที่ 2 ภายหลังจากการการตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2416 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “เหรียญรัตนาภรณ์” แต่การสถาปนาเหรียญรัตนาภรณ์ในครั้งนั้นก็ไม่ได้พระราชทานให้ผู้ใดมากกว่า 20 ปี
จนกระทั่ง พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภถึงเจ้านายและข้าราชการ ซึ่งตามเสด็จประพาสเกาะชวาต้องลำบากกรากกรำ เพื่อช่วยกันพยาบาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา ซึ่งประชวรหนักอยู่เกือบเดือน พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญรัตนาภรณ์ขึ้นใหม่ โดยให้แบ่งออกเป็น 5 ขั้น เพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้โดยเสด็จในครั้งนั้นทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน และพระราชทานแก่ผู้อื่นเป็นบำเหน็จความชอบอย่างอื่นต่อมา
ในปี พ.ศ. 2447 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง
สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้รับราชการมาในรัชกาลที่ 4 หรือผู้เป็นสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์ หลังจากนั้นได้มีการสถาปนาเหรียญรัตนาภรณ์ขึ้นในทุกรัชกาลจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2495 สำหรับพระราชทานเป็นส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. อยู่ในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมีและมีหูสำหรับร้อยแพรแถบ โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น ได้แก่
ชั้นที่ 1 ย่อว่า ภ.ป.ร.๑ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. ขอบเรือนเงินประดับเพชรทั้งดวง
ชั้นที่ 2 ย่อว่า ภ.ป.ร.๒ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. ทองคำลงยาสีขาว ขอบเรือนเงินประดับเพชร
ชั้นที่ 3 ย่อว่า ภ.ป.ร.๓ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. ทองคำลงยาสีขาว ขอบสร่งทองคำ
ชั้นที่ 4 ย่อว่า ภ.ป.ร.๔ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. ทองคำ ขอบเพชรสร่งเงิน
ชั้นที่ 5 ย่อว่า ภ.ป.ร.๕ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. เงิน ขอบสร่งเงิน
เครื่องหมายแพรแถบ พื้นสีเหลือง มีริ้วขาว 2 ข้าง เหมือนกันทั้ง 5 ชั้น โดยสำหรับสตรีใช้ผูกเป็นรูปแมลงปอ ส่วนบุรุษไม่ผูก ใช้กลัดอกเสื้อ
การพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์จัดเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์อันเป็นบำเหน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์นับเป็นเครื่องหมายในพระมหากรุณาส่วนพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานแก่ผู้ใดก็แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร
ผู้ที่ได้รับพระราชทานจะได้รับประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกรประจำพระองค์กำกับไว้ หากได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ในชั้นที่สูงขึ้นต้องส่งเหรียญดวงเดิมคืน แต่หากผู้ได้รับพระราชทานเหรียญวายชนม์ เหรียญก็จะตกทอดแก่ทายาท
ซึ่งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทายาทสามารถใช้เหรียญร้อยสร้อยสวมคอได้แต่จะนำไปร้อยแพรแถบเพื่อเอาไปประดับไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้ได้รับพระราชทานสามารถเขียนอักษรย่อของเหรียญที่ได้รับพระราชทานไว้ท้ายชื่อด้วย