เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com
เครื่องทองต่างๆที่เห็นนี้เรียกว่า “เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์” ซึ่งเป็นเครื่องทรง5อย่างของพระมหากษัตริย์ไทย เครื่องทรงเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า “พระเจ้าอยู่พระองค์นั้นๆได้ผ่านพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพ่ออยู่หัว” ตรงตามโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งกรุงเก่าทุกประการ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเครื่องเบญจราชฯนี้เพียงแค่ครั้งเดียว นั่นก็คือวันที่พระองค์เข้าพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพ่ออยู่หัว และจะไม่ทรงเครื่องเบญจราชฯอีกเลยตลอดรัชกาล เพราะเครื่องเบญจราชฯนี้เป็นเครื่องทรงที่สงวนไว้สำหรับพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น ดังนั้นหลังจากพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว เจ้าพนักงานจะอัญเชิญครื่องเบญจราชฯทอดถวายไว้ที่ข้างๆพระราชบัลลังก์แทน
1.พระมหาพิชัยมงกุฎ
แสดงถึงยอดพระวิมานของพระอินทร์หรือเทพ พระมหามงกุฎนี้สร้างขึ้นในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ครั้นถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงมีรับสั่งให้นำเพชรเม็ดใหญ่จากประเทศอินเดียมาประดับไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นของหนัก เป็นพระราชภาระของพ่ออยู่หัว เพราะต้องทรงแบกรับความทุกข์ ความโศก และโรคภัยของประชาชนทั้งปวง พระมหาพิชัยมงกุฎมีน้ำหนักกว่า 7.3 กิโลกรัม
2.พระแสงขรรค์ชัยศรี
แสดงถึงพระราชศาตราวุธประจำพระมหากษัตริย์ เสมือนเป็นพระปัญญาในการปกบ้านครองเมือง พระแสงองค์นี้เป็นของเก่า เดิมตกจมอยู่ในทะเลสาบเขมรที่เมืองเสียมราฐ ชาวประมงทอดแหได้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์(แบน)เจ้าเมืองเสียมราฐจึงนำมาทูลเกล้าถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่1 เมื่อวันที่พระแสงองค์นี้มาถึงพระนคร ได้เกิดฟ้าผ่าลงกลางพระนครตามทางที่อัญเชิญถึง 7 แห่ง รัชกาลที่1จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทำด้ามและฝักขึ้นใหม่ด้วยทองลงยาประดับมณี หนักกว่า 1.9 กิโลกรัม
3.ธารพระกร
แสดงถึงพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์โดยธรรม สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่1ทำด้วยไม้ชัยพฤษ์ปิดทอง หัวและสันเป็นเหล็กคร่ำลายทอง ลักษณะเหมือนกับไม้เท้า มีความยาว 118 เซนติเมตร
4.วาลวีชนี (พัดและแส้)
แสดงถึงพระราชภารกิจที่คอยปัดเป่าความทุกข์ บำรุงความสุขให้ไพร่ฟ้าประชาชน ทั้ง 2 สิ่งนี้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่1ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น พัดวาลวีชนีทำด้วยใบตาลปิดทองทั้ง2ด้าน ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองคำลงยา ส่วนพระแส้ทำด้วยขนจามรี มีด้ามเป็นแก้ว
5.ฉลองพระบาทเชิงงอน
ฉลองพระบาทนี้มีที่มาจากเกือกแก้ว ซึ่งหมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุ เป็นที่อาศัยแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายทั่วแว่นแคว้นขอบขัณฑสีมา ฉลองพระบาทเชิงงอนนี้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่1ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ รวมไปถึงเครื่องทองเครื่องสูงต่างๆ เก็บรักษาไว้ ณ พระที่นั่งองค์ทิศตะวันตก ของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง
หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานนั้น ถือว่าเป็นหัวใจของพระบรมมหาราชวัง เพราะภายในมีเครื่องสูงเครื่องใช้ของบูรพมหากษัตริย์ตั้งแต่สร้างกรุง มีพระแท่นบรรทมที่รัชกาลที่1.2.3ใช้บรรทม และสวรรคตบนพระแท่นนี้ และยังเป็นสถานที่ที่พระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลต้องเสด็จเข้าไปบรรทมในพิธีบรมราชาภิเษกอีกด้วย
นอกจากเครื่องเบญจราชฯดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆอีกมากมายเช่น พระแสงจักร, พระแสงตรีศูล, พระแสงธนูพระแสงดาบเขน, พระแสงหอกชัย ,พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง ,พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย และเครื่องราชูปโภคเป็นต้น ซึ่งเจ้าพนักงานจะอัญเชิญมาไว้ด้านหลังของพระราชบัลลังก์ ในพระราชพิธีฯ
จากภาพด้านซ้ายคือ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ทั้ง5อย่าง
จากภาพด้านขวาคือ เมื่อครั้งเข้าพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และเมื่อครั้งพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา ในปี พ.ศ.2552