ที่มา: Khaosod Online

วันที่ 30 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเสนอ รัตนสำเนียง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร หรือ ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากกระแสความนิยมของทุเรียนเทศ หรือทุเรียนน้ำ ไม้ผลชื่อดังของภาคใต้ เพื่อนำใบและผลไปผลิตเป็นสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะมะเร็ง ทำให้มีเกษตรกรให้ความสนใจมาขอต้นพันธุ์ทุเรียนเทศ ไปปลูกกันเป็นจำนวนมาก 

เนื่องจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตรัง นับเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนเทศที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย รวมทั้งยังได้มีการเพาะขยายพันธุ์แจกจ่ายให้แก่เกษตรกร นับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2557 รวมแล้วไม่น้อยกว่า 2 พันต้น 

17

สำหรับจุดเด่นของทุเรียนเทศ คือ ผลมีรูปร่างคล้ายทุเรียน แต่มีรูปทรงและขนาดไม่แน่นอน เปลือกผลสีเขียวเข้ม และมีตุ่มหนามอ่อนนุ่มกระจัดกระจายอยู่โดยรอบ แต่เมื่อผลสุกจะมีสีเขียวอมเหลือง เนื้อผลมีสีขาว ฉ่ำน้ำ รสหวานอมเปรี้ยว ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะชำเมล็ดในที่มีความชื้นและที่ร่ม เมื่อรดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 3 สัปดาห์ เมล็ดก็จะงอกออกมาเป็นต้นอ่อน รวมทั้งสามารถขยายพันธุ์ได้ โดยการปักชำ ติดตา หรือนำยอดจากต้นพันธุ์มาเสียบกับต้นตอ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ทุเรียนเทศ ออกผลเร็วขึ้น จากปกติ 3 ปี มาเหลือแค่ 2 ปี ทั้งนี้ ต้นพันธุ์ที่มีอายุเพาะชำ 3 เดือนขึ้นไป สามารถนำไปปลูกลงดินได้ทันที

18

ทุเรียนเทศ มักพบเพียง 1-2 ต้น ขึ้นอยู่ในสวนหลังบ้านของภาคใต้ เช่น จ.นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา จนถือเป็นไม้ผลไม้ที่แทบจะถูกลืมไปแล้ว แต่ล่าสุดได้มีการนำทุเรียนเทศ ไปปลูกกันแพร่หลายมากขึ้น เพื่อเอาใบและผลไปใช้ประโยชน์ด้านสุมนไพร แม้กระทั่งในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น จ.เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย อีกทั้งยังมีแมลงหรือศัตรูพืชรบกวนน้อยมาก ผู้สนใจสามารถมาติดต่อขอต้นพันธุ์ได้ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตรัง โดยจะแจกจ่ายให้เกษตรได้รายละ 2 ต้น เนื่องจากมีจำนวนจำกัด และคาดว่าทั้งปี 2558 จะสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ประมาณ 1 พันต้น

19

เรื่องน่าสนใจ