4-5 ปีที่ผ่านมา “เกาะหมาก” เกาะในน่านน้ำของจังหวัดตราดมุ่งมั่นกับการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด มีเป้าหมายคือการเป็น “โลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น” ซึ่งสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา กิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ยังเป็นกิจกรรมที่แทรกตัวอยู่กับธรรมชาติอย่างเงียบๆ เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือขี่จักรยานท่องเที่ยว ดำน้ำดูปะการัง พายเรือคยัก หรือแม้กระทั่งการพักผ่อนอ่านหนังสือริมชายหาด ล่าสุดได้มีการนำเรือใบเข้ามาสร้างบรรยากาศให้มีสีสันมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ รีสอร์ต ร้านอาหาร บ้านเรือน บนเกาะหมาก ได้ขยับสู่ความเป็นโลว์คาร์บอนด้วยการหันมาใช้โซลาร์เซลล์ราว 70-80% เกือบทั่วเกาะ รวมทั้งนำระบบการคัดแยกและกำจัดขยะมาใช้อย่างได้ผล นอกจากนั้น เป็นการนำวัฒนธรรม วิถีชีวิตเดิม ๆ ของคนบนเกาะมาให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส
เกาะหมากวันนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมรองจากเกาะช้างขณะที่ที่พักบนเกาะยังมีจำนวนเท่าเดิมจาก2 ปีที่ผ่านมา คือ รีสอร์ต 40 แห่ง ห้องพัก500 ห้อง จากสถิติปี 2556 มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว 120,000 คน รายได้ประมาณ 180 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2555 จำนวน 80,000 คน และเพิ่มจากปี 2554 ที่มีเพียง 60,000 คน
นายจักรพรรดิ ตะเวทิกุล ผู้จัดการเกาะหมากรีสอร์ท และนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวของเกาะหมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเติบโตมาตลอด เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างประเทศ 90% โดยเฉพาะโซนยุโรป เยอรมนี และกลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่มาซ้ำ นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น คือ รัสเซีย และจีน ส่วนนักท่องเที่ยวไทยมีเพียง 10% เท่านั้น
“2 ปีที่ผ่านมา จำนวนรีสอร์ตไม่เพิ่มขึ้น ตอนนี้มี 40 แห่ง และห้องพักยังคงที่ 500 ห้องส่วนใหญ่จะเป็นการปรับปรุงห้องพักเดิม พัฒนารีสอร์ตมากกว่า จุดที่เราคิดตรงกันคือ ต้องการจำกัดห้องพัก และจำนวนนักท่องเที่ยวไว้เพียงเท่านี้ เนื่องจากความสามารถในการรองรับยังจำกัด เพราะไฟฟ้ายังเป็นกระแสไฟฟ้าปั่น ระบบประปาไม่มี ต้องใช้น้ำบาดาล ตอนนี้เรามั่นใจว่าเราทำได้ เพราะเจ้าของรีสอร์ตเป็นคนในท้องถิ่น 38 ราย และนอกพื้นที่เพียง 2 รายเท่านั้น จึงทำความเข้าใจกันได้ง่าย และหากคนในพื้นที่ไม่ขายที่ดิน ผมคิดว่าคงไม่มีรีสอร์ตใหญ่มาเกิดขึ้น เพราะชายหาดมีรีสอร์ตกระจายโดยรอบอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตาม นายจักรพรรดิมองว่าในอนาคตอาจมีนักลงทุนใหญ่เข้ามา เพราะต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาไฟฟ้าจากเคเบิลใต้น้ำได้มาถึงแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามา ราคาที่ดินชายทะเลอยู่ที่ไร่ละ 4-5 ล้านบาท ยังไม่ปรับสูงขึ้น แต่เมื่อไฟฟ้าเคเบิลใต้น้ำเข้ามาก็ไม่แน่ราคาอาจจะปรับสูงขึ้น
“สิ่งที่พวกเรากลัว คือ เราจะสูญเสียอัตลักษณ์ หรือแบรนด์การท่องเที่ยวที่เป็นโลว์คาร์บอน รวมทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คนบนเกาะหมาก”
นายจักรพรรดิกล่าวต่อว่า รีสอร์ตบนเกาะหมากการแข่งขันไม่สูงนัก เพราะรีสอร์ตรอบ ๆ เกาะมีบรรยากาศที่แตกต่างกันอีกทั้งมีเกาะที่อยู่ใกล้เคียง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยวได้ เช่น เกาะขาม เกาะกระดาด แล้วแต่รสนิยมของนักท่องเที่ยว ในปัจจุบันมีเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งบนฝั่งโดยตรง และจากเกาะช้าง เกาะกูดด้วยเรือสปีดโบ๊ต เรือโดยสาร โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นเดือนตุลาคมถึงพฤษภาคมมีบริการจากเกาะช้างวันละ 5 เที่ยว
นอกจากนั้น ในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงเส้นทางเรือใบในกลุ่มไฮเอนด์จากพัทยามาเกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด และเชื่อมถึงกัมพูชา เวียดนาม ซึ่งจะสอดคล้องกับการเปิดอาเซียนและการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
“ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน เกาะหมากเป็นช่วงฤดูมรสุม รีสอร์ตยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แต่ลดปริมาณลงเหลือ 10-20% เท่านั้น ซึ่งเป็นโอกาสที่จะปรับปรุงห้องพักและพัฒนาสภาพพื้นที่ของรีสอร์ต” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราดกล่าว