ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

เทศกาลดู “เหยี่ยว” อพยพแห่งประเทศไทยเริ่มต้นจัดเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2545 ที่ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งมี “ชูเกียรติ นวลศรี” ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่ายางในขณะนั้น และเป็นประธานชมรมดูนกจังหวัดชุมพร เป็นผู้ริเริ่ม

14423926321442495965l

โดยได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดชุมพร องค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร และ อบต.ท่ายาง ให้ใช้พื้นที่บริเวณกลางทุ่งนาในหมู่ที่ 6 ตำบลท่ายางเป็นสถานที่จัดงาน หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีการจัดเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพแห่งประเทศไทยติดต่อกันมาจนกลายเป็นงานประจำปีของจังหวัดชุมพรอีกงานหนึ่งไปแล้ว

“ชูเกียรติ”บอกว่าถือเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติหนึ่งเดียวที่จังหวัดชุมพรได้รับการยอมรับว่าเป็นจุดที่สามารถเฝ้าดูเหยี่ยวอพยพได้ดีที่สุดทั้งในระดับประเทศและในระดับโลกเป็นเพราะความโดดเด่นของจังหวัดชุมพรที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูทำให้มีความหนาแน่นของเหยี่ยวที่บินอพยพผ่านมาเป็นจำนวนมาก

ในแต่ละปีจะมีเหยี่ยวอพยพย้ายถิ่นจากประเทศต่างๆ ทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย เช่น มองโกเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ลงมายังตอนใต้ของทวีป และเหยี่ยวอพยพที่บินผ่านจังหวัดชุมพรในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน โดยเฉลี่ยมีประมาณ 250,000-400,000 ตัวต่อปี ซึ่งแต่ละช่วงสัปดาห์ของทั้ง 3 เดือน เหยี่ยวแต่ละชนิดล้วนตรงต่อเวลาไม่เคยบิดพลิ้วแม้แต่ปีเดียว สาเหตุคงเป็นเพราะบริเวณที่เหยี่ยวเหล่านี้เคยอาศัยมีอุณหภูมิลดต่ำลงมาก ส่งผลให้อาหารที่พวกมันเคยหากินตามปกติไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องอพยพย้ายถิ่นลงมาทางใต้เป็นประจำทุกปี

14423926321442495987l

ทั้งนี้พบว่า จุดชมวิวเขาดินสอ ตำบลบางสน อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เหมาะสมที่จะเป็นจุดดูเหยี่ยวอพยพที่ถาวร และสามารถสร้างคุณค่าได้มากกว่าเป็นเพียงจุดชมวิวเท่านั้น จึงประสานกับอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ) และผู้นำท้องถิ่นในขณะนั้น เพื่อก่อสร้างอาคารสำหรับใช้เป็นศูนย์กลางในการดูเหยี่ยวอพยพ เขาดินสอจึงได้กลายเป็นจุดดูเหยี่ยวอพยพถาวรของจังหวัดชุมพรมาจนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมามีนักดูนกและนักถ่ายภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้ความสนใจมุ่งมั่นที่จะเฝ้าดูและถ่ายภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวตลอดทั้งวัน ในระหว่างเวลา 07.00-17.00 น. เพราะนกล่าเหยื่อ หรือนกเหยี่ยวอพยพที่บินเข้ามาจะอยู่ในระดับสายตา จึงสามารถดูได้ใกล้ชิดกว่าสถานที่อื่น ๆ

สำหรับชนิดของเหยี่ยวที่พบในช่วงดังกล่าวมีมากถึง 26 ชนิด โดยมีอยู่ 6 ชนิดหลักที่มีจำนวนมากนับแสนตัว ได้แก่ เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ (Black Baza) เหยี่ยวผึ้ง (Oriental Honey Buzzard) เหยี่ยวหน้าเทา (Grey-faced Buzzard) เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน (Chinese Sparrowhawk) เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น (Japanese Sparrow hawk) และเหยี่ยวชิครา (Shikra) โดยเฉพาะเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำถือเป็นนกที่พบที่ชุมพรได้มากที่สุดของโลก

14423926321442496009l

ขณะที่ องค์กรด้านการอนุรักษ์นก (Royal Society for the Protection of Birds) ได้ตีพิมพ์ลงหนังสือ Migration Hotspots ; The World”s Best Migration Sites โดยยืนยันว่า บริเวณเขาดินสอ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นจุดดูนกล่าเหยื่อที่ดีที่สุดจุดหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

ประธานชมรมดูนกจังหวัดชุมพรยังบอกด้วยว่าในช่วงระหว่างวันที่21-25ตุลาคม2558 จังหวัดชุมพรได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติเครือข่ายนักวิจัยและนักอนุรักษ์นกล่าเหยื่อในทวีปเอเชียครั้งที่9ซึ่งปกติกำหนดจัด2 ปีต่อ 1 ครั้ง โดยจะหมุนเวียนกันจัดไปตามประเทศต่าง ๆ ทั่วทวีปเอเชีย จึงขอเชิญชวนชาวชุมพรทุกท่านร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่จะเข้ามาชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันน่าตื่นตาตื่นใจนี้ที่จังหวัดชุมพรด้วย

สำหรับการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเครือข่ายนักวิจัยและนักอนุรักษ์นกล่าเหยื่อในทวีปเอเชียแบ่งการจัดงานเป็น2จุด นั่นคือ จัดการประชุมที่โรงแรมโนโวเทล ชุมพร บีช รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง ส่วนการดูเหยี่ยวจะจัดบริเวณจุดชมวิวเขาดินสอ อำเภอปะทิว ห่างจากตัวเมืองชุมพรประมาณ 20 กิโลเมตร

ขณะนี้มีนักวิชาการและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสนใจตอบรับเข้าร่วมประชุมดังกล่าวจาก20ประเทศจำนวนกว่า200 คน มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การเสวนาทางวิชาการและนำเสนอผลงาน นิทรรศการเกี่ยวกับเหยี่ยวอพยพจากผู้เข้าร่วมประชุม การจัดแพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวทางทะเล ท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม

นับเป็นโอกาสดีของชาวชุมพร ที่จะได้ต้อนรับผู้มาเยือน และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของชุมชนชาวชุมพรด้วย

เรื่องน่าสนใจ