เคยสงสัยไหม ทำไมน้ำทะเลจึงเค็ม
การที่ทะเลมีรสเค็ม เนื่องจากการรวมตัวของน้ำละลายเกลือแร่ ที่ถูกพัดพามาจากพื้นทวีป และใต้ทะเล โดยความเค็มของทะเลจะมีความคงที่ สาเหตุที่ความเค็มของน้ำทะเลไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลานั้น ก็เพราะในมหาสมุทรมีกระบวนการของธรรมชาติที่รักษาระดับความสมดุลของเกลือแร่ คือถ้าหากว่าธาตุชนิดใดมีในน้ำมากเกินกว่าปกติ ก็จะถูกกำจัดออกจากน้ำทะเลโดยการแยกตัวออกเป็นของแข็ง ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีธาตุใดละลายน้ำน้อยเกินปกติ เกลือแร่ของธาตุนั้นในรูปของแข็ง ก็จะถูกละลายกลับสู่น้ำทะเล ดังนั้น ความเค็มของน้ำทะเลจึงคงที่มาหลายล้านปีแล้ว
องค์ประกอบหลักในน้ำทะเล ก็คือโซเดียม โปตัสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม สตรอนเดียม คลอไรด์ ซัลเฟต โบรมีน และธาตุอื่นๆ อันได้แก่ทุกธาตุที่มีอยู่บนพื้นผิวโลกจะละลายในน้ำทะเลได้ทั้งสิ้น
น้ำทะเลเค็มเพราะมีเกลือหลายชนิดละลายอยู่ ที่สำคัญที่สุดได้แก่เกลือแกง ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่าโซเดียมคลอไรด์ หรือ มีสูตรเคมีว่า NaCl น้ำทะเลโดยเฉลี่ยแล้วมีเกลือร้อยละ 3.5 หรือน้ำทะเล 1 ลิตรจะมีเกลือละลายอยู่ประมาณ 30 กรัม ยิ่งไปกว่านั้น ทะเลในแผ่นดินใหญ่หรือทะเลปิด ซึ่งไม่เชื่อมต่อกับทะเลหรือมหาสมุทรทั่วไป เช่น ทะเลเมดิเตอเรเนียนหรือทะเลแดง เกลือละลายอยู่มากกว่าทะเลหรือมหาสมุทรทั่วไป ส่วนทะเลที่มีความเค็มมากที่สุดได้แก่ทะเลเดดซี (Dead Sea) ในประเทศอิสราเอล ซึ่งมีเนื้อที่เพียง 340 ตารางไมล์เท่านั้น โดยมีปริมาณเกลือมากถึง 10,523,000,000 ตัน
ถ้าเราสามารถระเหยเอาน้ำทั้งหมดออกไปจากทุกทะเลและมหาสมุทรในโลกได้จนแหล่ง น้ำเหล่านี้แห้งลงจะพบว่า เกลือที่เหลืออยู่จะมีปริมาณมากมายมหาศาลจนเหลือเชื่อ ถ้านำเกลือเหล่านี้ทั้งหมดมารวมเป็นกอง จะได้กำแพงที่สูง 180 ไมล์ และหนา 1 ไมล์ หรือมวลของเกลือทั้งหมดมีขนาดประมาณ 15 เท่าของมวลทั้งหมดของพื้นที่ทวีปยุโรป เราทราบกันดีว่าเกลือทั่วไปเช่น โซเดียมคลอไรด์ หรือแมกนีเซียมคลอไรด์สามารถละลายน้ำได้ดีมาก ดังนั้น เมื่อเกิดมีฝนตก น้ำฝนก็จะละลายเกลือบนบก ไหลลงสู่แม่น้ำลำธาร และในที่สุดก็จะไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร นั่นหมายความว่าเกลือในน้ำทะเลและมหาสมุทรบางส่วนมาจาก การเคลื่อนย้ายเกลือจากผืนแผ่นดินใหญ่โดยผ่านขั้นตอนการละลายน้ำ
ขอขอบคุณที่มาจาก answers.yahoo.com
ขอขอบคุณภาพจาก loveseaclub.ran4u.com, niyay.com