นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมสัมมนา ผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลประเภทไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนหรือที่เรียกว่าคลินิก เพื่อพัฒนาศักยภาพสถานพยาบาล ที่ห้องประชุมกรมสบส. ว่า วัตถุประสงค์สำคัญของพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติมในฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559 นั้น เพื่อให้สถานพยาบาลได้มาตรฐานทั้งคุณภาพและความปลอดภัย ได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่นจากผู้รับบริการ
อีกทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการสุขภาพ ปัจจุบันทั่วประเทศมีคลินิกขึ้นทะเบียนกับกรมสบส.ทั้งหมด 23,054 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นสถานพยาบาลที่มีจำนวนมากที่สุดในระบบบริการสุขภาพ
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจพบว่าประชาชนเมื่อเจ็บป่วย ประมาณร้อยละ 80 มักจะไปใช้บริการที่คลินิกโดยเฉพาะที่คลินิกเวชกรรมและทันตกรรมที่มี 15,000 กว่าแห่ง ซึ่งคลินิกทั้ง 2 ประเภทนี้มักมีการใช้เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ทำหัตถการดูแลรักษาผู้ป่วย
โดยตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้ต้องมีระบบการแยกขยะติดเชื้อกับขยะทั่วไป กำหนดให้ใช้ถุงสีแดงในการใส่ขยะติดเชื้อที่ใช้กับผู้ป่วย เช่นผ้าก๊อซ สำลีทำแผล เป็นต้น เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง และมีเครื่องฆ่าทำลายเชื้อเครื่องมือแพทย์ที่เป็นโลหะที่ใช้แล้ว และนำมาใช้ซ้ำ เพื่อทำให้ปราศจากเชื้อโรคทุกชนิด (Sterilization) สร้างความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย
เช่น หม้ออบด้วยไอน้ำร้อน ( Autoclave) หม้อต้มสำหรับใช้ทำลายเชื้อทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามใช้หม้อหุงข้าว กระทะไฟฟ้าต้มอย่างเด็ดขาด เนื่องจากไม่มีประสิทธิภาพในการทำให้ปราศจากเชื้อโรคทุกชนิดได้ และเป็นการนำภาชนะมาใช้งานผิดวัตถุประสงค์ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ หากตรวจพบจะถือว่าไม่ได้เกณฑ์มาตรฐานในด้านเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับสถานพยาบาลประเภทคลินิก จะต้องแก้ไขและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทางด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกการออกตรวจสอบเยี่ยมเยียนคลินิกประจำปีของเจ้าหน้าที่สำนักสถานพยาบาลฯ พบว่าในปัจจุบันคลินิกส่วนใหญ่ จะติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อดูแลด้านความปลอดภัย ซึ่งสามารถกระทำได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ขอให้ติดอย่างถูกต้อง
โดยติดตั้งได้ในบริเวณเช่นด้านหน้าคลินิก ทางเดิน ด้านหน้าห้องตรวจ แต่ห้ามติดตั้งภายในห้องที่ทำการตรวจหรือห้องที่ทำการรักษาผู้ป่วยอย่างเด็ดขาด ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ และจะเข้าข่ายละเมิดสิทธิของผู้ป่วยด้วย หากตรวจพบจะถือว่าไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดให้ห้องตรวจต้องเป็นสัดส่วนและมิดชิด