( 24 ก.ย.) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการแถลงข่าว “สบส. เตือนภัย ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ทำการรักษาโดยวิธีเฟรชเซลล์ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต”
โดยนพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ตามที่มีสถานพยาบาลหลายแห่งมีการโฆษณาว่าขณะนี้มีวิธีการรักษาการเจ็บป่วยรูปแบบใหม่โดยใช้วิธีเฟรชเซลล์ คือการนำสารสกัดจากรกแกะมาฉีดเข้าร่างกายเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย ทั้งยังสามารถนำไปเสริมความงามได้ด้วยนั้น ขอยืนยันว่า การรักษา รวมทั้งการเสริมความงามโดยการใช้เฟรชเซลล์ ยังไม่มีมาตรฐานวิชาชีพในการรักษา และประเทศไทยยังไม่มีการรับรองการรักษาประเภทนี้
ปัจจุบันมีการรับรองเพียงการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ หรือ เซลล์ต้นกำเนิดเท่านั้น ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการว่าสามารถใช้รักษาโรคได้ ทั้งยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนด้วย ดังนั้น หากสถานพยาบาลใดมีการนำเรื่องเฟรชเซลล์มาโฆษณาเพื่อใช้ในการักษา จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 34(2) ที่กำหนดให้ผู้ดำเนินการต้องรับผิดชอบ ควบคุม และดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถานพยานบาลปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ หากไม่ปฏิบัติตามมีความผิดจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์วิจัยสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคในประเทศไทยนั้น ทางแพทยสภาให้การรับรองเพียงการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบเลือดเท่านั้น ส่วนการใช้เซลล์จากสัตว์ เช่น เฟรชเซลล์ มารักษานั้น ยังไม่มีหลักฐานการยืนยันทางการแพทย์ว่าสามารถนำมารักษาโรคได้ ที่สำคัญ การนำเซลล์จากสัตว์มาฉีดเข้าร่างกายมนุษย์ยังจะไปกระตุ้นให้เกิดการแพ้ ยิ่งหากฉีดเข้าที่สมองจะส่งผลให้เกิดเซลล์สมองอักเสบได้ ซึ่งทีผ่านมามีข้อมูลทางการแพทย์จากต่างประเทศ ยืนยันแล้วว่ามีผู้ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดเซลล์สัตว์เข้าในร่างกาย โดยมีข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศที่ระบุอย่างชัดเจนอีกว่า เมื่อปี ค.ศ. 1960 หรือประมาณ พ.ศ. 2503 มีผู้ที่เสียชีวิตจากการักษาด้วยการใช้เซลล์สัตว์ฉีดเข้าร่างกายประมาณ 30 คน และหลังจากนั้น ก็ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับการนำเซลล์สัตว์มาใช้รักษาโรคในมนุษย์อีกเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการนำเซลล์สัตว์มารักษานั้นจะเกิดอันตรายมาก
นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ยืนยันว่า แพทยสภายังไม่มีการรับรองการรักษาด้วยเฟรชเซลล์ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันถึงความปลอดภัยจากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว อีกทั้งความรู้เรื่องการนำเซลล์สัตว์มาฉีดรักษาโรคนั้น เป็นความรู้เก่าที่มีมานานแล้ว ไม่ใช่ความรู้ใหม่ตามที่มีผู้นำมากล่าวอ้าง ที่สำคัญ การที่มีแพทย์กล่าวอ้างว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเซลล์บำบัดนั้น ขอชี้แจงว่าแพทยสภายังไม่มีการรับรองแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าว ดังนั้น จะถือว่าเป็นการแอบอ้าง มีความผิดตามมาตรา 28 และต้องรับโทษตามมาตรา 44 พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 คือ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนที่มีการระบุว่าประเทศเยอรมนี มีการรักษาด้วยเฟรชเซลล์ได้ ทั้งยังมีการเปิดคลินิกด้วยนั้น ทางแพทยสภาจะสอบถามข้อเท็จจริงไปยังประเทศเยอรมนีต่อไป พร้อมกันนี้ แพทยสภายังได้มีการนำกรณีเฟรซเซลล์เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว
ขอบคุณที่มา ผู้จัดการออนไลน์