เมื่อพูดถึงอาการปวด ไม่ว่าจะปวดที่อวัยวะใดก็คงไม่มีใครอยากประสบพบเจอ โดยเฉพาะอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังยิ่งเป็นปัญหาที่หลายคนเข็ดขยาด เนื่องจากผู้ป่วยมักจะทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน อีกทั้งยังเป็นโรคที่รักษายาก ทำให้แพทย์ผู้รักษาพาลจะปวดหัวไปด้วย
อาการ
โรคปวดท้องน้อยเรื้อรังพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยผู้ป่วยร้อยละ 90 เป็นเพศหญิง ทั้งนี้ เพราะโครงสร้างทางร่างกาย อวัยวะ และระบบการทำงานเอื้อต่อการเกิดความผิดปกติ การปวดท้องน้อยเรื้อรังจะปวดบริเวณเชิงกราน ท้องน้อย หรือบริเวณใกล้เคียง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถประกอบภารกิจได้ตามปกติ หลายคนต้องลาออกจากงาน เพราะเมื่อมีอาการปวดไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป ผู้ป่วยหลายรายมีความผิดปกติทางด้านจิตใจตามมา เช่น อาการซึมเศร้า หรืออารมณ์แปรปรวน
สาเหตุ
อาการปวดท้องน้อยเรื้อรังมีลักษณะที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับว่ามีความผิดปกติที่อวัยวะส่วนใด หากเป็นอวัยวะด้านระบบสืบพันธุ์สตรี เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาการปวดจะมากหรือน้อยตามวงรอบของฮอร์โมนเหมือนการปวดประจำเดือน หากอาการปวดเกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะก็จะปวดรุนแรงกว่า ผู้ป่วยจะถ่ายปัสสาวะบ่อยมาก บางรายถ่ายปัสสาวะวันละ 40-50 ครั้ง สำหรับการปวดที่เกิดจากลำไส้ก็อาจจะมีอาการความผิดปกติในการขับถ่ายอุจจาระร่วมด้วย หรือถ้าปวดจากกล้ามเนื้อก็จะปวดไปตามแนวกล้ามเนื้อนั้น และมักจะรู้สึกได้ว่าปวดตรงจุดไหน
จะเห็นได้ว่าอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง เป็นกลุ่มอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาการที่พบบ่อย คือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบรุนแรง ซึ่งไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเหมือนการอักเสบทั่วไป แต่เกิดจากน้ำปัสสาวะซึมเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ตามปกติกระเพาะปัสสาวะจะมีเยื่อบางๆ คลุมอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะซึมเข้าสู่ผนังกระเพาะปัสสาวะ เพราะเกลือแร่ต่างๆ ในปัสสาวะ จะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงมาก อาการปวดแบบนี้มักจะมีอาการปัสสาวะบ่อยร่วมด้วย และปวดมากเมื่ออั้นปัสสาวะ และจะทุเลาลงบ้างเมื่อถ่ายปัสสาวะเสร็จ
ส่วนเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือ การที่เยื่อบุโพรงมดลูกมาเกาะอยู่นอกมดลูกในบริเวณเชิงกราน เช่น ผนังด้านนอกกระเพาะปัสสาวะ เยื่อบุช่องท้อง ผนังลำไส้ จะทำให้มีอาการปวด เมื่อมีการคั่งของเยื่อบุ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวงรอบของฮอร์โมน หรือมีการอักเสบของลำไส้ใหญ่ กล้ามเนื้อเชิงกรานอักเสบ ข้อต่อต่างๆ บริเวณเชิงกรานอักเสบ หรือแม้แต่ก้อนนิ่วบริเวณท่อไตส่วนล่าง ก็ทำให้มีอาการปวดร้าวลงมาที่เชิงกรานและท้องน้อยได้
การวินิจฉัยและการรักษา
ผู้ป่วยส่วนมากมักจะพบแพทย์ท่านอื่นมาก่อนหลายท่าน อาการทุเลาบ้างไม่ทุเลาบ้าง ดังนั้นเมื่อมาพบแพทย์จะต้องทบทวนการตรวจ ผลตรวจต่างๆ ผลเอกซเรย์ และยาที่ได้รับในอดีตว่ามียาอะไรบ้าง เช็กประวัติการผ่าตัดบริเวณหลังท้องน้อย เชิงกรานต่างๆ เพราะอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น เกิดเนื้อเยื่อพังผืด
เมื่อไปพบแพทย์ ผู้ป่วยควรจะทบทวนลำดับเหตุการณ์ให้ดี เพราะจะช่วยในการวินิจฉัยได้มาก ได้แก่ เวลาที่ปวด บริเวณที่ปวด ปวดร้าวไปบริเวณใดบ้าง มีกิจกรรมหรือเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ปวดมากขึ้น เช่น กลั้นปัสสาวะ หรือมีเพศสัมพันธ์ อาการปวดเกี่ยวข้องกับรอบเดือนหรือไม่ การเดิน การก้าวขาทำให้ปวดมากขึ้นหรือไม่ ที่ผ่านมามีอะไรช่วยบรรเทาปวดได้บ้าง รับประทานอาหารอะไรแล้วทำให้ปวดมากขึ้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยละเอียด ตรวจภายใน ตรวจทางทวารหนัก สำรวจหาจุดปวด ตรวจเอกซเรย์อัลตราซาวนด์ ตรวจปัสสาวะ ส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ หลังจากได้รวบรวมผลตรวจต่างๆ แล้ว หากได้รับการวินิจฉัยแล้วก็จะให้การรักษาตรงจุดนั้นๆ เช่น หากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ก็จะให้การรักษาทางฮอร์โมน หากพบว่ากระเพาะปัสสาวะมีการอักเสบรุนแรงก็จะให้ยาระงับอาการปวดร่วมกับการใส่ยาในกระเพาะปัสสาวะ
ศาสตราจารย์นายแพทย์วชิร คชการ
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี