ช่างภาพอิสระเจ้าของผลงานภาพถ่ายชุด “ปลากัดไทย” สุดเจ๋ง ถูกแชร์และถูกส่งต่อมากมายในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่รวบรวมงานศิลปะและงานออกแบบ สร้างชื่อเสียงจนโด่งดังไกลไปทั่วโลก
จากเด็กหนุ่มที่ชื่นชอบการถ่ายรูป พัฒนาตัวเองก้าวสู่ช่างภาพมืออาชีพ ที่สะสมประสบการณ์มากว่า 30 ปีกำลังพูดถึง วิศรุต อังคทะวานิช ช่างภาพอิสระในวัย 45 ปี ผู้มีชื่อเสียงจากการถ่าย ภาพปลากัด (Fighting Fish)ย้อนกลับไปในยุคของกล้องฟิล์ม วิศรุตในวัย 15 ปีกำลังศึกษาอยู่ ม.2 โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ (บางรัก) ได้เริ่มถ่ายรูปอย่างจริงจัง
“ที่บ้านมีพ่อกับปู่เป็นหมอที่ชอบถ่ายภาพ เลยซึมซับส่วนนี้มา แต่พอมาเรียนมหาวิทยาลัย ผมเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาโฆษณาและประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะรู้สึกว่าผมเข้าใจเรื่องถ่ายภาพพอสมควรแล้ว อยากเรียนด้านอื่นที่ไม่รู้มากกว่าจึงเลือกเรียนโฆษณา ตอนนั้นเป็นช่วงที่โฆษณากำลังเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่ออกมาพูดเฉยๆ เป็นโฆษณาที่มีความเป็นครีเอทีฟ วัยรุ่นในยุคนั้นจึงสนใจอาชีพนี้ เพราะรู้สึกว่าได้ทำอะไรที่สร้างสรรค์”
พอเรียนจบเขาก็เลือกทำงานฟรีแลนซ์ ด้านกราฟิกดีไซน์ จึงพบปัญหาเรื่องช่างภาพ
“ช่างภาพโฆษณาสมัยก่อนมีไม่มากและราคาแพงมาก ถ้าเราหาช่างภาพไม่ได้งานก็ไม่เสร็จ เลยตัดสินใจศึกษาเรื่องการถ่ายภาพเพื่อโฆษณา แต่ภาพโฆษณากับการถ่ายรูปเล่นมีเส้นแบ่งค่อนข้างชัดเจน อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายในงานโฆษณาจะมีหน้าตาอีกแบบหนึ่ง เช่น กล้อง Medium Format กล้อง Large Format เวลาจะถ่ายต้องมีภาพในหัวไว้ก่อนหมดเลย เช่น จะถ่ายภาพกระเป๋า จะต้องวางแบบนี้ ตำแหน่ง มุมต้องคิดไว้แล้ว เส้นขอบฟ้าจะต้องอยู่ตรงไหน มีอุปกรณ์ประกอบอะไรบ้าง ต้องจบในหัวหรือต้องมีภาพสเกตช์ไว้แล้ว เทียบแล้วปัจจุบันง่ายกว่ากันเยอะ”
ดังนั้น กว่าวิศรุตจะก้าวมาเป็นช่างภาพได้ ต้องผ่านการศึกษาหาข้อมูลอย่างหนัก
“เหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่ สมัยนี้โชคดีมีอินเตอร์เน็ตเข้าไปค้นหาความรู้ แต่เมื่อก่อนไม่มีอินเตอร์เน็ต เราจะหาความรู้ต้องไปห้องสมุดเท่านั้น แล้วหนังสือเรื่องการถ่ายรูปของไทยเองก็ไม่มี ต้องหาหนังสือต่างประเทศ ซึ่งหนังสือดีๆ ในห้องสมุดก็เป็นขาว-ดำ เล่มที่ผมได้มาเป็นเล่มที่ซีร็อกซ์มาจากเล่มต้นฉบับอีกทีหนึ่ง กว่าจะได้อะไรมาแต่ละอย่างต้องใช้ความพยายาม”
ผ่านไปอีก 10 ปี วิศรุตต้องมานับหนึ่งอีกครั้งกับกล้องถ่ายรูประบบดิจิตอล ซึ่งอุปกรณ์เปลี่ยนไปจากเดิม ทุกวันนี้บางครั้งเขาต้องไปดูแม็กกาซีนสำหรับช่างภาพมือใหม่ เพื่อที่จะดูว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นเพิ่มเติมบ้าง
เป็นวิถีของช่างภาพ ที่กว่าจะได้ผลงานสวยๆ ออกมาไม่ใช่เรื่องง่าย วิศรุตใช้เวลากว่า 30 ปี สั่งสมประสบการณ์ เทคนิค และแนวคิดหล่อหลอมเป็นภาพถ่ายทรงคุณค่า และนี่คือเรื่องราวกว่าจะได้ภาพชุด “ปลากัด” ที่โด่งดังไกลไปทั่วโลก
– จุดเริ่มต้นของภาพชุดปลากัด?
ผมโตมากับห้องแถวที่เป็นคลินิกหมอ ไม่มีที่ให้เลี้ยงสุนัขเลี้ยงแมว เลยเลี้ยงได้แค่ปลา ทำให้ผมอินกับการเลี้ยงปลา เวลากินข้าวที่ร้านอาหารจะชอบไปยืนดูตู้ปลา บางทีผ่านแม่น้ำก็จะไปชะโงกดูแล้วว่ามันมีปลาหรือมีตัวอะไรอยู่หรือเปล่า โตขึ้นมาก็ชอบไปดูปลา ชอบดำน้ำ ตกปลา คือมันอยู่ในความสนใจของเราตลอดเวลา
ส่วนที่มาของภาพชุดนี้เริ่มตอนที่ทำไมโครสต๊อก คือการขายภาพทางเน็ต เป็นงานที่ไม่มีโจทย์ เราอยากจะทำอะไรก็ทำ เพราะฉะนั้น เราต้องหาโจทย์ของเราเอง วันหนึ่งผมไปดูงานประกวดปลา เลยเห็นว่าปลากัดมันแตกต่างจากสมัยก่อนเยอะ
ตอนเด็กๆ มีแค่หางสั้นหางยาว มีสีไม่มาก แต่ตอนนี้มีสีแปลกๆ เช่น สีส้ม สีชมพู สีม่วง หางปลาเดี๋ยวนี้ก็มีทั้งหางพัด หางหนาม ยังมีปลากัดแปลกๆ อย่างปลากัดยักษ์ ทำให้เรารู้สึกมหัศจรรย์ รู้สึกสนใจมันมากๆ ก็เลยซื้อกลับมาลองถ่ายรูปดู แต่ถ้าดูในอินเตอร์เน็ตส่วนมากจะถ่ายภาพด้านข้าง ภาพจะออกมานิ่งๆ แบนๆ แต่ตอนเห็นที่ร้านเราประทับใจการว่ายน้ำของปลากัดเลยถ่ายทอดออกมาเป็นรูปภาพ
– ภาพชุดปลากัดเป็นผลงานที่โดดเด่นที่สุด?
จริงๆ ก็มีงานปลาอื่นด้วย อย่างปลาทอง เพราะเห็นปลาทองที่เป็นลายแพนด้าสีดำ-ขาว ซึ่งตอนเด็กๆ ไม่มี ก็รู้สึกประทับใจอยากซื้อมาเลี้ยงแล้วลองถ่ายภาพดู ถ่ายมาแล้วก็ดูแปลกตา สนุกดี เลยต่อยอดจากตรงนั้นมาที่ปลาอื่นจนมาถึงปลากัด
แต่ปลากัดมันออกไปในกระแสวงกว้าง หลังจากที่ขายภาพในไมโครสต๊อกเเล้ว ก็ลองเอาภาพไปโพสต์ในเว็บไซต์ http://500px.com/bluehand พอโพสต์เสร็จสักพัก ก็มีเว็บที่เกี่ยวข้องกับงานดีไซน์เอาภาพเราไป ซึ่งเว็บนั้นเป็นเว็บที่ดีไซเนอร์ทั่วโลกนิยมเข้ากัน ก็เลยกระจายไปตามบล็อกงานอาร์ตเเละดีไซน์ต่างๆ คนก็เลยรู้จักงานผมมากขึ้น จากนั้นเว็บไซต์ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน ภาษารัสเซีย ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น หรือเป็นภาษาอารบิก ก็มีการนำภาพของผมไปประกอบ
สักพักมีคนติดต่อมาว่าอยากซื้องานไปทำโฆษณาบ้าง อยากซื้องานไปพรินต์เป็นงานประดับบ้านบ้าง ผลตอบรับตรงนี้ทำให้เรารู้สึกว่ายุคนี้อยากโกอินเตอร์ ไม่จำเป็นต้องไปต่างประเทศแล้ว เราอยู่ที่นี่แหละ อินเตอร์ก็มาหาเราได้ ถ้าเรามีคอนเทนต์ที่น่าสนใจ และทุกคนสามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยอินเตอร์เน็ตไม่ว่าเราอยู่ที่ไหน
– กว่าจะถ่ายรูปปลากัดได้ยากหรือเปล่า?
ยากครับ อย่างแรกเลยก็คือการไปหาปลาที่สวยตรงกับจินตนาการของเรา ผมเลยต้องไปตลาดนัดทุกอาทิตย์ บางอาทิตย์ไป 2 ครั้ง ทั้งตลาดจตุจักร ทั้งตลาดสนามหลวง 2 ราคาปลากัดที่ซื้อเริ่มตั้งแต่ 50 บาทจนถึงหลักพันบาท ที่ต้องไปซื้อเอง เพราะถ้าเราไม่ได้ปลาที่ถูกต้องมา ต่อให้เราถ่ายสวยยังไงก็จะเป็นภาพที่สวยของปลาที่ไม่สวย
เหมือนถ่ายนางแบบ ถ้าเราเอาใครก็ได้มาถ่าย จัดไฟสวยยังไงแต่นางแบบไม่สวย ภาพมันก็ออกมาไม่สวย เพราะฉะนั้น ขั้นตอนแรกต้องหาปลาที่สวยมาก่อน ไปๆ มาๆ ขั้นตอนนี้กลายเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด
– ต้องมีความรู้ในการเลือกปลาด้วยหรือเปล่า?
ก็ต้องมีบ้างครับ แต่ปลาที่ผมเลือกอาจจะไม่ตรงตามตำราของคนเลี้ยงปลา เช่น ตำแหน่งครีบปลา ต้องตั้งฉาก ต้องโค้งแค่ไหน ของผมไม่ได้มองตรงนั้น เพราะไม่ได้เอาปลาไปประกวด แล้วตอนถ่ายรูปก็ไม่ได้เห็นครีบอยู่ตรงตามตำแหน่งพวกนั้นอยู่แล้ว ฉะนั้น ผมจะมองอีกแบบ จะมองว่ามันมีสีที่ถูกกับเรา มีการเคลื่อนไหวมีท่าทางถูกใจ เวลามองปลาตัวนั้นที่ร้านเรานึกไปถึงไหนได้บ้าง ตรงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญครับ
– ขั้นตอนการถ่ายรูปปลากัด?
อย่างแรกคือการหาปลาก่อน จากนั้นก็เอาปลาที่เราเลี้ยงไว้มาล้างตัว ก่อนจะเอาเข้าตู้ปลาที่ใช้ถ่ายรูปซึ่งเป็นคนละใบกับที่ใช้เลี้ยง แล้วรอให้ปลาปรับตัวกับน้ำสักพัก พอปรับตัวได้ก็อยู่ที่คาแร็กเตอร์ของเขาแล้ว บางตัวอาจจะต้องบิวต์ด้วยการเอากระจกไปล่อ เอาอะไรดำๆ ไปไล่เขี่ยให้เขาตอบสนอง จากนั้นก็เป็นเรื่องของการจัดไฟเหมือนสตูดิโอทั่วไป แล้วก็ถ่ายภาพตามปกติก่อนจะมารีทัช
จริงๆ ผมจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมชาติของปลา เพราะกว่าเราจะหาปลามาได้ต้องใช้ความพยายาม
การรีทัชคือการเอาฝุ่นออก เพราะว่าปลามันตัวเล็ก ฝุ่นที่มองไม่เห็นพอขยายมาเต็มจอก็เห็นชัด ก็ต้องเอาฝุ่นพวกนั้นออก แต่ส่วนใหญ่จะเน้นทำความสะอาดให้มีฝุ่นน้อยที่สุด อาจจะมีซัก 5-10 จุด ตอนรีทัชก็ไม่ยากเเล้ว ไม่งั้นถ่ายมามีฝุ่นซัก 1,000 จุด คงรีทัชไม่ไหว
– ถ่ายปลากัดมาเยอะเเค่ไหน?
ประมาณ 100 ตัวครับ แต่ยังมีงานที่เก็บไว้อีกเป็นสต๊อกส่วนตัว ที่เห็นกันตอนนี้ก็จะเป็นแค่บางส่วนที่มันพร้อมที่จะออกไป ซึ่งปลาแต่ละตัวเวลาถ่ายรูปแล้ว จะมีรูปที่ใช้ได้จริงๆ ประมาณ 4-5 ภาพ เพราะการถ่ายภาพปลาจะต้องรอจังหวะ รอจุดโฟกัส
คืนหนึ่งผมถ่ายประมาณ 100 ถึง 300 รูป คัดไปคัดมาเหลือภาพสวยๆ ต่อปลาตัวหนึ่งไม่เกิน 10 ภาพ บางทีก็สวย แต่โพสต์ใกล้เคียงกับรูปที่แล้ว ก็ต้องเลือกอันเดียว
– ได้ยินมาว่าเลี้ยงปลากัดในคอนโด?
ใช่ครับ เลี้ยงไว้ที่ห้อง สับเปลี่ยนหมุนเวียนสมาชิกรวมแล้วประมาน 20 ตัว ปลากัดเป็นปลาตัวเล็ก ใช้พื้นที่เลี้ยงในโหลแก้วไม่มาก
ตอนแรกที่เลี้ยงปลากัด ผมใช้พื้นที่ห้องนอนเล็กถ่ายรูปปลากัด แล้วย้ายมาใช้ห้องรับแขก ตอนนี้ย้ายไปอยู่ห้องนอนใหญ่ เพราะว่าเวลานอนมันใช้พื้นที่ไม่มาก 3 คนพ่อแม่ลูก ก็เลยย้ายมานอนห้องนอนเล็กแล้วเอาพื้นที่กว้างกว่าเป็นห้องทำงาน เป็นห้องเก็บปลากัดแทน
ช่วงแรกภรรยาก็มีบ่นบ้าง เพราะห้องก็ไม่ได้กว้างอะไรมาก แต่ไม่ได้เบียดบังพื้นที่เยอะนะ และเขาเห็นว่าเรามีความสุขกับการมีสัตว์เลี้ยงในห้อง พอตอนหลังเขาเริ่มเห็นผลงาน คราวนี้จะเอาเข้ามากี่ตัวก็ไม่ว่าแล้ว (หัวเราะ)
– เสียใจไหมเวลาปลาที่เลี้ยงไว้ตาย?
มีบ้างครับ บางตัวที่หายากๆ ก็รู้สึกนิดๆ แต่เราไม่ได้ผูกพันมาก เพราะปลาไม่ค่อยแสดงอารมณ์ ไม่ฉลาดเหมือนกับสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เวลาป่วยไม่สบายหรือตายไปจะเสียใจมาก
จะขีดเส้นชัดเจนว่าปลาเป็นสัตว์เลี้ยงพยายามไม่ผูกพันกับมันมาก ไม่ตั้งชื่อ แต่มีตัวที่ชอบจะรู้สึกเสียดาย แต่ก็เข้าใจว่าเป็นวัฏจักรของปลา อายุสั้น ที่ผ่านมาก็ดูแลเต็มที่เท่าที่จะทำได้
- เคยคิดจะถ่ายภาพสัตว์อื่นนอกจากปลาไหม?
ก็ชอบสัตว์นะ แต่อยู่คอนโดเลี้ยงได้แค่ปลา จะให้ถ่ายนกเพนกวินก็ไม่ได้ (หัวเราะ) แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากจะลอง
แต่การถ่ายรูปอะไร สิ่งแรกเลยต้องรู้จักและเข้าใจมันก่อน จะถ่ายนกเพนกวิน ไม่ใช่เจอแล้วกดถ่ายเลย เราคงไม่สามารถถ่ายทอดความเป็นเพนกวินได้ เพราะเราไม่รู้จักมัน เพราะฉะนั้น การที่จะทำอะไรได้ดีเราต้องรู้จักมัน ควรเป็นของที่เอากลับมาบ้านได้ ถ้าเราไม่รู้คือการไม่มีราก ซึ่งงานที่ไม่มีรากคืองานที่ฉาบฉวย พ่อครัวทำมาผิดคุณก็ไม่รู้ แค่กดชัตเตอร์ไป การกดชัตเตอร์มันไม่ได้ทำให้เราเป็นช่างภาพที่ดีได้ เพราะการกดชัตเตอร์เป็นเพียงขั้นตอนเดียวของกระบวนการถ่ายรูป
– ตอนนี้ยังทำงานกราฟิกอยู่หรือเปล่า?
พอมีลูกแล้วไม่มีสมาธิพอที่จะทำทั้งกราฟิกและถ่ายภาพงานกราฟิกต้องใช้สมาธิในการทำงานเยอะ และเป็นงานที่ไม่จบง่ายๆ ส่งไปแล้วต้องกลับมาแก้ บางงานส่งเป็น 10 รอบก็มี เลยหันมาถ่ายรูปเพิ่มขึ้น เพราะการถ่ายรูปเสร็จแล้วก็จบ กลับบ้านได้ ไม่มีการบ้าน การรีทัชก็ไม่ได้วุ่นวายมาก ไม่ต้องส่งกลับไปกลับมาเหมือนงานกราฟิก
– ที่ผ่านมาชอบผลงานไหนมากที่สุด?
งานส่วนตัวที่เป็นรูปถ่ายครอบครัวครับ รูปพวกนี้มันไม่ได้เผยแพร่ไปในวงกว้างแต่มันมีความหมาย
เราถ่ายงานสวย แล้วมันจบ แต่เวลาเราไปเที่ยวถ่ายรูปกับครอบครัวเราผ่านไป 10 ปีกลับมาดูมันก็ยังมีคุณค่าอยู่ เรามองว่ามันเป็นการเก็บความทรงจำ มันไม่ใช่แค่ถ่ายรูปแล้ว
– เสน่ห์ของการถ่ายภาพอยู่ตรงไหน?
คือการมีความจริงปนอยู่ในนั้นเยอะ การถ่ายภาพมันจะไม่ใช่ความจริง 100 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นความจริงในแง่มุมของช่างภาพเท่านั้น สมมุติผมถ่ายรูปตรงนี้ที่มีต้นไม้เยอะๆ คนที่ดูอาจจะเข้าใจว่าผมถ่ายรูปอยู่ในสวน เพราะว่าข้างหลังเป็นต้นไม้ แต่ความจริงเราอาจจะอยู่ในตึกกลางเมือง
ถามว่ารูปมันโกหกไหม มันไม่ได้โกหก แต่เป็นมุมมองที่ผมคัดมาว่าอยากให้คนอยู่กับต้นไม้ตรงนี้แล้วดูเหมือนอยู่ในสวน จะมองว่ามันจริงก็ไม่ได้จริงทั้งหมด จะมองว่ามันโกหกมันก็มีความจริงอยู่ในนั้น ภาพถ่ายมันเลยเป็นความจริงที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เป็นเสน่ห์ในมุมมองของผม
– เป็นช่างภาพเจอปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์บ้างหรือเปล่า?
คือ..เมื่อไหร่ที่เราเอาภาพไปลงในอินเตอร์เน็ตก็ต้องทำใจในระดับหนึ่งแล้วว่าเราควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเป็นปัญหาหรือไม่อยู่ที่เราป้องกัน เช่น ไม่เอางานไฟล์ใหญ่ไปลง อย่างภาพของผมมีคนเอาไปทำรูปหน้าร้านขายปลาเยอะแยะไปหมด แต่ผมก็เข้าใจว่าเขาก็อยากให้หน้าร้านดูดีแล้วเราก็ไม่ได้เดือดร้อนมาก ถ้าเราจะไปเรียกเงินเขาหรือไปขายภาพเขาคงไม่มีเงินให้มากมายนัก เพราะฉะนั้น บางอย่างที่เราทำไปแล้วไม่ได้เสียอะไรมาก แล้วคนอื่นได้ประโยชน์ก็ไม่เป็นไร
– มองอนาคตวงการถ่ายภาพยังไง?
ผมมองว่าตอนนี้การถ่ายรูปไม่ได้อยู่เฉพาะในกลุ่มช่างภาพแล้วมันกลายเป็นการสื่อสารขั้นพื้นฐานเหมือนเขียน ก.-ฮ. วันนี้เป็นยุคของการสื่อสารด้วยภาพควบคู่ไปกับตัวหนังสือ
ทักษะการถ่ายภาพจะเป็นเรื่องสำคัญในอนาคตที่มาถึงตั้งแต่เมื่อวาน อีกหน่อยทุกคนจะเป็นคนใช้กล้องได้ แต่มีเพียงส่วนหนึ่งที่พัฒนาตัวเองต่อมาเพื่อเป็นช่างภาพ เพราะการเป็นช่างภาพต้องมีอะไรมากกว่ากล้องเยอะ ต้องมีเทคนิค แนวคิด และจินตนาการ การมีกล้อง ทุกคนมีกล้องได้ แต่คนที่มีกล้องไม่ได้หมายความว่าเป็นช่างภาพทุกคน คุณถ่ายรูปได้ คุณเป็นเจ้าของกล้องเท่านั้นเอง