ที่มา: khaosod

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีพระที่นั่งพิมานรัตยา พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา และ เรือนบริวาร หรือเรือนจันทร์ ต่อเนื่องทางด้านหลังในเขตพระราชฐานชั้นใน

พระที่นั่งองค์นี้ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระที่นั่งทรงไทยแท้องค์เดียวในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะเรือนยอดพระมหาปราสาท (กุฎาคาร) มีรูปทรงต้องด้วยศิลปะลักษณะอันวิจิตรงดงาม

dsc_1509-696x455

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้น เมื่อปีพ.ศ.2332 บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ซึ่งถูกฟ้าผ่าไหม้จนหมด จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมหาปราสาทขึ้นใหม่บนพื้นที่เดิม นามว่า “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท”

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่ง 1 ชั้นสถาปัตยกรรมทรงปราสาทแบบจตุรมุข ด้านเหนือมีมุขเด็ดยื่นออกมา เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูนฐานสูง 2.85 เมตร ชั้นล่างเป็นเชิงฐานถัดไปเป็นฐานสิงห์และฐานเชิงบาตรสองชั้นหลังคาเป็นยอดทรงปราสาทประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้งคันทวยมีลักษณะเป็นพญานาค 3 หัวหน้าบันจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณล้อมรอบด้วยลายกนกเทพพนมมุมยอดปราสาททั้ง 4 มุมเป็นรูปลายพญาครุฑหน้าบันจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑไขรา รอบปราสาทเป็นรูปครุฑหยุดนาครองรับ

p8280005-686x420

ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระแท่นต่างๆ คือพระที่นั่งบุษบกมาลา เป็นพระแท่นสำหรับประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เสด็จออกมหาสมาคมเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก เป็นพระแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปต่างๆ พระแท่นราชบรรจถรณ์ประดับมุก เป็นพระแท่นที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภายในประดิษฐานปูชนียวัตถุในพระราชพิธีสำคัญๆ

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมีมุขกระสัน ระหว่างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทกับพระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นอาคารทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี

ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ปิดทองประดับกระจก มุขกระสันนี้เป็นโถงยาว มีฝากั้นแบ่งเป็นสองตอน ตอนหนึ่งต่อกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท อีกตอนหนึ่งติดต่อกับพระที่นั่งพิมานรัตยา มีพระทวารเป็นทางเชื่อมถึงกัน มุขกระสันตอนที่ต่อกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางด้านทิศเหนือ มีบันไดทางขึ้นพระที่นั่งบุษบกมาลาสองข้าง

s14-13-1-491x696

เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จออกว่าราชการที่ท้องพระโรง นอกจากนั้นสถานที่นี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงด้วย อย่างเช่น เมื่อรัชกาลที่ ๑ เสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาตั้งไว้ที่พระที่นั่งองค์นี้ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่จะต้องประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า และ สมเด็จพระอัครมเหสีไว้บนพระที่นั่งองค์นี้

ในรัชกาลปัจจุบัน ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

พระที่นั่งองค์นี้ไม่ได้เป็นเพียงที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพเท่านั้น ยังเป็นสถานที่เพื่อทำพระราชพิธีสำคัญด้วย อย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ.2454 ในรัชกาลสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ในปัจจุบัน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี และพระราชกุศลต่างๆ เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล (พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า) ในวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี

dusit_maha_prasat_in_cloudy_day-464x696

5214__24122006035844

เรื่องน่าสนใจ