ที่มา: Kapook.com

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559  ศาลฎีกา ร่วมกับสำนักกิจการในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประชุมเรื่องทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลก เพื่อนำผลของการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด ( UNGASS ) ปี 2016 มาปรับใช้ในประเทศไทย โดยมี นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วย พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย 

03

ขอขอบคุณภาพจาก INN News

โดย พล.อ. ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการแก้ไขยาเสพติดเมื่อ 28 ปีที่ผ่านมาว่า มีแนวคิดทำให้โลกปราศจากยาเสพติดด้วยการประกาศสงคราม แต่เมื่อทำงานร่วมกับยาเสพติดมายาวนานจนถึงปัจจุบัน โลกยอมจำนนให้ยาเสพติด และกลับมาคิดว่าจะอยู่ร่วมกับยาเสพติดได้อย่างไร เปรียบเทียบได้กับคนเป็นมะเร็งที่ไม่มียารักษา ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งต่อไปให้ได้อย่างมีความสุข ขณะนี้ทิศทางเกี่ยวกับยาเสพติดกำลังเปลี่ยนไป หลายประเทศพูดถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้เสพ รวมถึงทิศทางของการใช้ยาเสพติดเพื่อรักษาอาการป่วย แต่ยูเอ็นยังไม่กล้าเขียนและไม่กล้ายอมรับ ทั้ง ๆ ที่มีผลงานวิจัยยืนยันและมีทิศทางของการยอมรับมากกว่า 70% แล้ว

พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม UNGASS ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เรียกร้องให้คำนึงถึงการลงโทษที่ได้สัดส่วน เช่น อันตรายของสารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีนที่มีต่อตนเองและผู้อื่นในสังคม บทบาทของผู้กระทำผิด มาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก หลายประเทศนำแนวคิดของประเทศไทยไปใช้ แต่ในไทยทำไม่ได้ เพราะยังติดขัดที่กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ถ้าไม่แก้กฎหมายก็เดินต่อไปไม่ได้ ตนจึงผลักดันให้ยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดทั้งระบบ

และขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยกฎหมายใหม่จะเปิดช่องให้ศาลมีโอกาสใช้ดุลยพินิจในการลงโทษจำคุก หรือการปรับที่น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เมื่อมีเหตุอันสมควรเฉพาะราย โดยจะพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของผู้กระทำความผิด และพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง

04

ขอขอบคุณภาพจาก INN News

สำหรับการแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น จำต้องดำเนินการให้ครบทั้ง 3 ด้าน

– ด้านการปราบปราม
– ด้านการป้องกัน
– ด้านการบำบัดฟื้นฟู 

แต่ที่ผ่านมาการบำบัดฟื้นฟูทำไม่ได้ เนื่องจากติดขัดที่กฎหมาย ฉะนั้นอาจถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะเปลี่ยน “เมทแอมเฟตามีน” จากยาเสพติดรุนแรงเป็นยาปกติ เพราะในทางการแพทย์ “เมทแอมเฟตามีน” มีผลทำลายสุขภาพและสมองน้อยกว่าบุหรี่และสุราเสียอีก แต่สังคมกลับยอมรับบุหรี่และสุรามากกว่า โดยเห็นว่าเมทแอมเฟตามีนป็นอาชญากรรม แต่บุหรี่และสุราไม่ใช่อาชญากรรม
โดยหลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ศาล อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการยกเลิกเมทแอมเฟตามีนจากบัญชียาเสพติด

อนึ่ง เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) เป็นอนุพันธ์หนึ่งของแอมเฟตามีน จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ในระยะแรกจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ประสาทล้า หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง เสียสติ เป็นบ้า อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ โดยสารเมทแอมเฟตามีนจะพบได้ในยาเสพติดหลายชนิด อาทิ ยาบ้า และ ยาไอซ์

เรื่องน่าสนใจ