กระแสพืชผักสมุนไพรรักษาสุขภาพเริ่มฮิต โดยเฉพาะในโลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพมากมาย อาทิ กล้วยดองน้ำผึ้ง มังคุดรักษาโรค หรือแม้แต่การเตือนใบทุเรียนเทศ รวมไปถึงการดื่มน้ำอย่างสุขภาพดีนั้น
ล่าสุด ยังคงมีการแชร์ข้อมูลการบริโภคพืชผักสมุนไพร รวมไปถึงสูตรอาหารพิชิตโรคอีกมาก โดยเฉพาะการบริโภคที่เชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ ชะลอวัย ยิ่งล่าสุดมีการจำหน่ายผ่านโซเชียลถึงเครื่องดื่มสมุนไพร อาทิ น้ำลูกยอช่วยชะลอวัย สร้างภูมิคุ้มกัน ฟื้นฟูเซลล์เสื่อมสภาพ
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันสูตรอาหารหรือเครื่องดื่มจากพืชผักสมุนไพร มักบอกสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ช่วยบรรเทาอาการปวด บ้างก็บอกว่าชะลอวัย เป็นยาอายุวัฒนะ สิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาและตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วน เพราะส่วนใหญ่ในพืชผักสมุนไพรจะมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่แล้ว และโรคส่วนใหญ่ทุกวันนี้ก็มักเกิดจากสารอนุมูลอิสระมากเกินไป
ดังนั้น โดยหลักการเมื่อบริโภคสารต้านอนุมูลอิสระจึงเชื่อว่าจะลดปัญหาโรคภัยต่างๆ ได้ แต่สิ่งสำคัญการรับประทานจะต้องพิจารณาตามโดส และปริมาณที่ร่างกายต้องการ ประกอบกับต้องมีปัจจัยอื่นๆ ในการดูแลสุขภาพด้วย นอกจากทานอาหารถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่แล้ว ยังต้องออกกำลังกายอย่างเหมาะสม นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นต้น
“ส่วนการบริโภคอาหารสุขภาพ จริงๆ ในครัวเรือนก็มีเยอะ อย่างกระเทียม หากกินสดก็จะได้รับประโยชน์มากในแง่ช่วยย่อยอาหาร ทำให้ระบบระบายดีขึ้น แต่ในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุแนะนำว่าควรนำไปปรุงอาหารดีกว่าทานสดๆ เพราะหลายคนกินเข้าไปอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากกระเทียมจะมีตะกอนโปรตีน ทำให้รู้สึกพะอืดพะอม ผู้สูงอายุควรรับประทานด้วยการนำไปตุ๋นไปปรุงอาหารน่าจะดีกว่า
หรืออาจนำกระเทียมไปดองน้ำผึ้ง อย่างกระเทียมโทน เพราะน้ำผึ้งคนโบราณถือว่าเป็นอาหารอายุวัฒนะ สามารถนำมาผสมกับสูตรต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสมได้ แต่การจะปรุงยาหรือปรุงสูตรอาหารเพื่อเป็นยานั้น จะต้องได้รับภูมิปัญญาที่ถูกต้อง” ภญ.ผกากรองกล่าว และว่า ที่สำคัญกระเทียมไม่ควรกินตอนท้องว่าง ควรกินหลังอาหารจะดี
ปัจจุบันสมุนไพรกลายเป็นทางเลือกที่ประชาชนให้ความสนใจมาก จะทำอย่างไรให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง เพราะล่าสุดยังมีสมุนไพรอื่นๆ อาทิ เกสรดอกบัวรักษาโรคข้อกระดูก ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ หากเป็นไปได้เห็นว่าน่าจะมีศูนย์ข้อมูลสมุนไพรให้ความรู้เรื่องนี้เฉพาะ อาจเป็นเบอร์กลาง จะได้มีบุคลากรพร้อม มีเภสัชกรด้านสมุนไพรมีความรู้ความเชี่ยวชาญตอบคำถาม และให้ความรู้ที่ถูกต้องได้ อย่างเรื่องเกสรบัวหลวง สำหรับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรนำมาพัฒนาเป็นยาหอม ปัจจุบันยังไม่เห็นมีงานวิจัยใดรองรับว่าสามารถนำมาใช้รักษาโรคข้อกระดูกได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้จำหน่ายสินค้าบางรายมีการโฆษณาว่าเกสรดอกบัว มีสารอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ลดอาการปวดต่างๆ โดยเฉพาะข้อกระดูก
ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า สารอัลคาลอยด์ จัดเป็นกลุ่มสารที่มีรสขม ออกฤทธิ์ในการต้านการอักเสบต่างๆ จึงอาจนำมาใช้ระงับอาการปวดได้ แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณโดสของสารนั้นๆ และแต่ละบุคคลได้รับด้วย เท่าที่ทราบยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันชัดว่านำมาใช้รักษาโรคปวดกระดูกตามข้อเข่าต่างๆ ที่สำคัญเกสรดอกบัวค่อนข้างหายาก ราคาก็แพงตามไปด้วย
เมื่อถามว่า ปัจจุบันในโซเชียลมีการแชร์ข้อมูลสูตรอาหารสมุนไพรเพื่อสุขภาพจำนวนมาก หากต้องการทราบข้อเท็จจริงประชาชนควรทำอย่างไร ภญ.ผกากรองกล่าวว่า จริงๆ แล้วต้องหาข้อมูลก่อนจะเชื่อ และนำไปปฏิบัติ อย่างการดองต่างๆ เช่น การทำผักดอง หรือกล้วยน้ำว้าดองน้ำผึ้ง ต้องพิจารณาดีๆ เพราะขั้นตอนหากทำไม่ถูกต้องอาจปนเปื้อนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีศูนย์ข้อมูลสมุนไพรอภัยภูเบศรสามารถปรึกษาได้ แต่มีปัญหาศูนย์มีบุคลากรน้อยเพียง 4-5 คนเท่านั้น มีคู่สายเพียง 3 เบอร์ ขณะที่ประชาชนสนใจสอบถามมาวันละ 30 สาย ค่อนข้างมากอาจไม่ได้รับความสะดวกมากนัก แต่ในอนาคตอาจมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อให้ความรู้ลักษณะนี้กับประชาชนทั่วไปด้วย ทางสภาเภสัชกรรมให้ความสนใจเรื่องนี้เช่นกัน
“นอกจากการให้ข้อมูลต่างๆ แล้ว สำหรับประชาชนสนใจเรื่องสมุนไพร หรือการปรุงสูตรอาหารสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ทาง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีการสอนเช่นกัน โดยได้ตั้งศูนย์การเรียนรู้การดูแลสุขภาพภาคประชาชน เปิดอบรมประชาชนทั่วไปสนใจเรื่องสมุนไพรพื้นบ้าน และสมุนไพรหาได้ง่ายมาใช้ประโยชน์ต่างๆ โดยในแต่ละเดือนทางศูนย์จะจัดกิจกรรมเฉพาะเดือนนั้นๆ อย่างเดือนสิงหาคมนี้ จะเป็นกิจกรรมสมุนไพรดูแลแม่วันที่ 22-23 สิงหาคม จะเป็นกิจกรรม สมุนไพร อบ นวด ลดปวด บำรุงหัวใจ วันที่ 29-30 สิงหาคม เป็นกิจกรรมสาธิตอบสมุนไพรให้กายหอม เป็นต้น” ภญ.ผกากรองกล่าว