เนื้อหาโดย Dodeden.com

ใครที่เคยได้ยินคำว่า เมลาโทนิน ก็ต้องร้องอ๋อ เพราะว่ามันได้รับการกล่าวขานในเรื่องของอาหารเสริมที่ช่วยให้นอนหลับปุ๋ยมาหลายสิบปีเเล้ว!

แต่จนแล้วจนรอด เมืองไทยก็ยังไม่มีขายทั่วไปตามท้องตลาดเหมือนหาซื้อวิตามินบํารุงร่างกายสักที ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกมีขายกันเกร่อ เรียกว่าเดินเข้าห้างก็มีขายแล้ว (ความจริงก็มีขายในห้างและในอินเทอร์เน็ตเยอะแยะค่ะ แต่ต้องรับผิดชอบเรื่องประสิทธิภาพ รวมทั้งความปลอดภัยต่อสุขภาพและกันเอาเอง)

เมลาโทนินไม่ได้มีข้อดีแค่เรื่องการช่วยให้นอนหลับตามวงจรกลางวัน/กลางคืนเท่านั้น เมลาโทนินยังมีความสําคัญด้านการปกป้องเนื้อสมองจากอันตรายของสารพิษต่างๆ ที่เป็นผลพลอยได้จากการทํางานอย่างคร่ำเคร่งของสมอง (Oxidative and Nitrosative Stress) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เนื้อสมองเครียดจากอาการบาดเจ็บหรือ มีภาวะอักเสบอะไรบางอย่าง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งนั่นหมายความว่าเมลาโทนินไม่ได้ทํางาน แค่เป็นฮอร์โมนบอกเวลาตื่นเวลาหลับ แต่เมลาโทนินหนึ่งเดียวนี้ยังทําหน้าที่หลายอย่างได้คุ้มค่าหลายประการ สมกับที่เซลล์สมองอุตส่าห์สร้างขึ้น ใช่ค่ะ เซลล์สมอง คุณอ่านไม่ผิดหรอก

เดิมทีนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าฮอร์โมนเมลาโทนินสร้างจากต่อมไพเนียล (หรือที่บางคนเรียกว่าต่อมเหนือสมอง บางคนเชื่อกันว่าเป็นตาที่สามด้วยซ้ำ) แต่หลังๆ มานี้ก็พบว่าเซลล์ประเภทอื่นๆ ในสมองอย่าง Glal Cells ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์ในระบบประสาทที่ไม่ได้ทําหน้าที่ส่งสัญญาณประสาท แต่มีบทบาทสําคัญไม่แพ้กัน ทั้งให้อาหารเซลล์ประสาทโดยตรง กําจัดเซลล์ประสาทที่ตาย และสร้างปลอกหุ้มประสาท ซึ่งเป็นส่วนสําคัญของการส่งสัญญาณประสาทเลยทีเดียว ยังไม่หมดนะคะ อวัยวะอื่นๆ ในร่างกายอีกมากก็ยังหลั่งเมลาโทนินมาใช้เป็นของตนเอง เช่น เซลล์ที่จอประสาทตา ต่อมน้ำเหลือง เซลล์ในระบบทางเดินอาหาร (EnterOchromaffin Cell) รังไข่ อัณฑะ แม้กระทั่งผิวหนังเลยค่าา นี่ก็แสดงว่า เมลาโทนินน่าจะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายเรา “สร้างได้เอง” ที่ดีมากตัวหนึ่งเลย ดีขนาดที่ว่า กระทั่งต้นไม้และสาหร่ายบางชนิดยังผลิตขึ้นมาใช้เองกันเลยค่ะ

เกริ่นมายาวเสียขนาดนี้ก็แสดงว่าเมลาโทนิน ต้องมีดีแน่ๆ…ใช่ค่ะ ดีพอตัว เพราะจากงานวิจัย พบว่านอกจากเรื่องควบคุมการนอน บรรเทาอาการเจ็ตแล็ก และปกป้องเซลล์ประสาทแล้ว ยังพบว่าเมลาโทนิน “อาจ” ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะ ปวดไมเกรน รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร เช่น โรคลําไส้แปรปรวน กรดไหลย้อน ซึ่งโรคในระบบทางเดินอาหารที่กล่าวมานี้คาดว่านักวิทยาศาสตร์ การแพทย์คงมีคําตอบที่ชัดเจนให้คนธรรมดาอย่างเราทราบได้ในไม่กี่ปีนี้ แต่ก่อนจะวาดฝันถึงอนาคตที่เมลาโทนิน ดูจะเป็นยาวิเศษซึ่งรักษาได้หลายโรคเหลือเกิน มาดูกันก่อนว่าทุกวันนี้เมลาโทนินและญาติๆ เมลาโทนิน ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นสามารถสร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง โดยปัจจุบันมียากลุ่มเมลาโทนินอยู่ 4 ตัวค่ะ ประกอบด้วยตัวเมลาโทนินเองทั้งแบบเม็ด แบบน้ำ แบบเจลลี่ แบบเม็ดปลดปล่อยตัวยาช้าๆ และยาสังเคราะห์เลียนแบบเมลาโทนินอีก 3 ตัว

amazon.com
  • ตัวแรก Ramelteon ใช้รักษาโรคนอนไม่หลับชนิดหลับยาก เพราะถูกออกแบบมาให้ทํางานแบบมาเร็ว เคลมเร็ว ไปเร็ว
  • ตัวที่สองที่เพิ่งออกมาใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ชื่อว่า Tasimeleon ใช้รักษาคนตาบอดที่วงจรการนอน ไม่ใช่ 24 ชั่วโมง (นึกดูค่ะว่าเวลานอนจะกระเถิบไปเรื่อยๆ ทุกวัน กว่าจะครบวงรอบจะลําบากขนาดไหน)
  • และตัวที่สามนามว่า Agomelatine ซึ่งสรรพคุณต่างออกไปหน่อยเพราะใช้รักษาโรคซึมเศร้าเป็นหลัก

แต่เราขอเน้นเมลาโทนินธรรมดาสักหน่อย เพราะตัวที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องในประเทศไทย นั้นมีเพียงรูปแบบปลดปล่อยตัวยาช้าๆ (Circadin 2 มิลลิกรัม) ทําให้มีเมลาโทนินในร่างกายตลอดเวลาที่ยาออกฤทธิ จึงเหมาะกับผู้สูงอายุที่มีปัญหานอนหลับได้ไม่ยาว เพราะเมลาโทนินจากต่อมไพเนียลในสมองหลั่งออกมาไม่เพียงพอตามวัย ซึ่งหากยึดตามเกณฑ์การใช้ยาคืออายุ 55 ปีขึ้นไปนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้านอนไม่หลับจากภาวะเครียด คิดนั่นคิดนี่ไม่หยุดสักที ยาตัวนี้อาจไม่ได้ช่วยให้นอนหลับได้โดยตรงนะคะ ส่วนเมลาโทนินที่เป็นแบบธรรมดา ยาเม็ดละลายหมด ดูดซึมทีเดียวไม่มีกั๊กนั้น ไม่มีขายอย่างถูกกฎหมายในไทยค่ะ แต่มีคนนําเข้ามาขายกันเอง เพราะหลายประเทศขายเป็นอาหารเสริมได้โดยที่ไม่ได้ควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดเหมือนกับการขายยา เช่น ในสหรัฐฯ หรือบางประเทศก็แบ่งตามขนาดยา เช่น ในสเปน ขนาดน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม สามารถหาซื้อได้ตามร้านยาทั่วไป แต่ถ้า 2 มิลลิกรัมขึ้นไป ต้องให้คุณหมอสั่งจ่ายค่ะ

เพราะฉะนั้น หากใครสนใจอยากทานเมลาโทนินแบบไม่พึ่งโรงพยาบาล ขอบอกเลยว่าคิดให้ดี ปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนนะคะว่า อาการนอนไม่หลับของคุณเป็นแบบใด มีสาเหตุจากอะไร เดี๋ยวทานแล้วไม่หายจะเสียใจ เสียความรู้สึก เสียสตางค์เปล่าๆ ค่ะ

เรื่องน่าสนใจ