ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 19 กรกฎาคม 2560 )  ที่อิมแพ็คคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการลดอันตรายจากยาเสพติด ระหว่างปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมการแพทย์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อธิบดีกรมควบคุมโรค

พร้อมมอบรางวัลเขตสุขภาพดีเด่นด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รางวัลเขตสุขภาพที่เร่งรัดขับเคลื่อนดีเด่นด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขายาเสพติด และรางวัลจังหวัดดีเด่นด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขายาเสพติด ระดับเขตสุขภาพ ประจำปี 2560

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวไทย ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติด  รัฐบาลและข้าราชการพร้อมใจกันน้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาใช้ในการปฏิบัติงานด้านยาและสารเสพติด

โดยกำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติและเป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องเร่งแก้ไข เน้นบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดของประเทศ ขจัดความเดือดร้อนประชาชน

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักบำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ติดอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน บูรณาการระบบการบำบัดรักษา เพื่อให้ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดได้รับการดูแลอย่างครบวงจร ประสานและร่วมติดตามช่วยเหลือดูแลผู้ผ่านการบำบัด และสนับสนุนการดำเนินการในมาตรการอื่นๆ ให้กับส่วนราชการที่ได้รับมอบหมาย

“ขณะนี้นโยบายการแก้ไขปัญหาผู้ติดยาเสพติด ได้ใช้การสาธารณสุขนำการแก้ไขแทนการลงโทษความผิด คำนึงถึงสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้ผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วยและเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงครอบคลุม สร้างหลักประกันว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี บรรลุเป้าหมายสูงสุดคือสามารถลดละเลิกยาเสพติดได้ ในกรณีที่ยังเลิกไม่สำเร็จให้ใช้มาตรการการลดอันตรายจากยาเสพติดมาใช้  ให้ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายจากยาเสพติดทั้งต่อตนเองหรือผู้อื่นในสังคม” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว

ทั้งนี้ 11 หน่วยงานได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือกัน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ มี 3 แนวทางดำเนินการ ดังนี้ 1. พัฒนาศักยภาพและคุณภาพการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติด

โดยเพิ่มมาตรการและให้ความสำคัญกับการลดอันตรายจากยาเสพติด 2. พัฒนาด้านวิชาการ ดูแล ควบคุม กำกับ ติดตาม และประสานงานการดำเนินการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด การให้ยาทดแทนระยะยาว การให้บริการลดอันตรายอย่างรอบด้าน พัฒนาความร่วมมือในการดำเนินการของสถานพยาบาลในสังกัด ตลอดจนพัฒนารูปแบบมาตรฐานการลดอันตรายจากยาเสพติดอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของประเทศไทย

3. มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ให้การสนับสนุนการดำเนินการลดอันตรายจากยาเสพติด การให้ยาทดแทนระยะยาว การดูแลช่วยเหลือในชุมชน และการดำเนินการตามมาตรการลดอันตรายจากยาเสพติดอื่นๆ ตลอดจนการสนับสนุนด้านทรัพยากร งบประมาณ การพัฒนาบุคลากร และการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม

ก่อนหน้านี้ ด้าน นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาหลักที่ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญขณะนี้ คือ ยาบ้า หรือสารเมทแอมเฟตามีน มีผู้เสพสารชนิดนี้ทั่วโลกมากกว่า 33 ล้านคน และกำลังสร้างปัญหาใหญ่ให้กับวงการจิตเวชทั่วโลก

เนื่องจากสารชนิดนี้จะเข้าไปทำลายสมอง ก่อให้เกิดทั้งผู้ป่วยโรคจิตเวชรายใหม่และที่น่าวิตกมีผลการศึกษาในหลายประเทศพบว่าผู้ป่วยโรคจิตเภท เสพยาบ้าร่วมด้วยถึงร้อยละ 11-31 แนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆมากกว่าคนทั่วไป 5 เท่าตัว

ส่วนในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอื่น มีโอกาสใช้สารแอมเฟตามีนสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่าตัว ที่ประชุมสมาคมจิตแพทย์ทั่วโลกประจำปี 2560 ได้แสดงความกังวลและเน้นย้ำถึงความสำคัญเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีตัวยาใดที่ใช้รักษาหรือถอนพิษหรือใช้ทดแทนยาบ้าที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้ยาบ้าร่วมด้วย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาต่ำลง เกิดอาการทางจิตเพิ่มขึ้นเช่นก้าวร้าวรุนแรง ระดับความซึมเศร้าสูงขึ้น มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงขึ้น เป็นเหตุต้องกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำและถี่ขึ้น เป็นภาระแก่ผู้ดูแล ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น

ผลการศึกษากรมสุขภาพจิต ปี 2559 พบว่าผู้ป่วยจิตเภทหลังรักษามีอาการกำเริบต้องกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำอีกอยู่ที่ร้อยละ 31 โดยมีต้นเหตุสำคัญมาจากการใช้สารเสพติด ที่ใช้มากที่สุด ได้แก่ ยาบ้ารองลงมา คือ สุรา มีอัตราการใช้สูงถึงร้อยละ 50 บางแห่ง

สาเหตุที่ผู้ป่วยหันไปเสพยาบ้าได้แก่ เพื่อให้เกิดมึนเมา ลดความไม่สบายใจ ความวิตกกังวล ลดความประหม่าในการเข้าสังคม บางรายใช้ลดความไม่สุขสบายจากฤทธิ์ยาและลดอาการประสาทหลอนของตัวเองเมื่อขาดยา รวมทั้งเพื่อนชักชวน ผู้ป่วยจะมีอาการหูแว่ว เช่น ได้ยินเสียงคนพูดทั้งๆที่ไม่มีคนพูด ประสาทหลอน ระแวงคิดว่าจะมีคนมาทำร้าย วอกแวก ขาดสมาธิ ซึ่งเป็นอาการทางจิตที่รุนแรงขึ้น เป็นอันตรายทั้งต่อผู้ป่วยเองและสังคมรอบข้าง

เรื่องน่าสนใจ