รังสีอุลตร้าไวโอเลตหรือรังสี UV เป็นรังสีที่มองไม่เห็นประกอบด้วยรังสี UVA, UVB และ UVC ซึ่งแตกต่างกันไปตามความยาวคลื่น ที่มีในแสงแดดจะประกอบด้วยรังสี UVA 90% และ UVB 10% ส่วน UVC จะถูกกั้นด้วยบรรยากาศชั้นโอโซนทำให้ไม่ผ่านมาถึงผิวโลก นอกจากนี้ยังมีในแสง ที่มาจากงานอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น แสงที่เกิดจากการเชื่อมเหล็ก โคมไฟฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น
รังสี UV นี้จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคตาหลายอย่าง เช่น ต้อเนื้อ, กระจกตาอักเสบ, ต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อม ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงจากแสงอุลตร้าไวโอเลตโดยเฉพาะในแสงแดด ซึ่งต้องเจอในชีวิตประจำวันโดยการสวมแว่นตากันแดดป้องกัน ตามมาตรฐานของแว่นตากันแดด วัสดุที่ใช้ทำเลนส์จะต้องมีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันรังสี UVB ได้อย่างน้อย 70% และรังสี UVA ได้อย่างน้อย 60% สำหรับวัสดุที่นำมาใช้ทำเลนส์แว่นตากันแดดมีด้วยกันหลายชนิด
เช่น วัสดุประเภท polycarbonate มีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันรังสี UV ได้ 99% ส่วนวัสดุที่เป็นพลาสติก(CR-39)และกระจกจะมีคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV เพิ่มขึ้นได้ โดยการเคลือบสารเคมีลงบนผิววัสดุ ในทางปฏิบัติควรมองหาป้ายรับรองที่ติดมากับแว่นตา ว่าสามารถป้องกันรังสี UV ได้มากน้อยเพียงใด ป้ายที่เขียนว่า “Block UV” นั้น ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าป้องกันรังสี UV ได้เท่าใด สำหรับป้ายที่เขียนว่า “UV protection up to 400 nm” หมายความว่า สามารถป้องกันรังสี UV ได้ 100% ดังนั้นจึงควรเลือกใช้แว่นตากันแดดที่มีการรับรอง ว่าสามารถป้องกันรังสี UV ได้ 99-100%
การเลือกสีของเลนส์แว่นตากันแดดให้เหมาะสมกับกิจกรรมหรืองานที่ทำของแต่ละบุคคล มีส่วนช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น
สีเทา (gray) ลดความเข้มของแสง โดยไม่ทำให้สีของวัตถุผิดเพี้ยน
สีน้ำตาล (brown) ช่วยเพิ่มความสามารถการมองแยกแยะรายละเอียด
ของวัตถุในที่สว่างได้ดีมาก (very high contrast) เหมาะสำหรับเมื่อต้องการมองแยกวัตถุต่างๆได้ชัดเจน แต่จะทำให้สีของวัตถุเพี้ยนไป
สีอำพัน (amber) ช่วยให้มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ดีขึ้น ป้องกันแสงสีฟ้า (blue light) ที่เป็นอันตรายต่อจอประสาทตา เหมาะสำหรับนักยิงปืน นักปั่นจักรยาน และการใส่เพื่อขับขี่ยานพาหนะ
สีเหลือง (yellow) ช่วยให้มองแยกรายละเอียดของวัตถุ (contrast)
ได้ดีขึ้น แต่ทำให้สีของวัตถุดูกระด้าง เหมาะสำหรับนักยิงปืน นักบิน คนขับเรือ นักสกี และการใส่เพื่อขับขี่ยานพาหนะ
สีชมพู(pink) และสีแดง(red) เหมาะสำหรับคนที่มีกล้ามเนื้อตาล้าจากการใช้คอมพิวเตอร์ แต่ก็จะทำให้สีของวัตถุที่เห็นเพี้ยนไปด้วย
สีแดงชาด(vermillion) ช่วยให้มองแยกส่วนที่เป็นน้ำออกจากวัตถุอื่นๆได้ดี แต่ทำให้วัตถุมีสีผิดเพี้ยนมากที่สุด
สีฟ้า(blue) ช่วยให้มองเห็นวัตถุที่มีสีขาว เช่น หิมะ ได้ดี แต่ก็ทำให้สีอื่นเพี้ยน
ขอบคุณที่มา https://www.facebook.com/saengthong.wg?fref=nf