ที่มา: dodeden

เรียบเรียงข่าวโดย โดดเด่นดอทคอม

ภาพประกอบจาก โดดเด่นดอทคอม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยปี 2557 ไทยรับภาระบริการสุขภาพต่างด้าวที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ประมาณ 360 ล้านบาท

เล็งตั้งสุขศาลานำร่องใน 8 จังหวัดชายแดนฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจัดบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ลดปัญหาและภาระข้ามแดนมาฝั่งไทยในระยะยาว โดยไทยเป็นพี่เลี้ยง และสนับสนุนวิชาการ

DSC00087

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมผู้บริหารทั้งจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค  นักวิชาการที่ดูแลงานสาธารณสุขแนวชายแดน  จำนวน 55 คน  เพื่อพัฒนาระบบการจัดการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานประชาชนในพื้นที่แนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

 โดยประเทศไทยมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ คือ เมียนมาร์ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ในพื้นที่ 31 จังหวัด

และขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยจำนวน 851,830 คน เป็นเมียนมาร์  543,535 คน กัมพูชา 214,874 คน ลาว 93,421 คน  ปัญหาสาธารณสุขชายแดนที่พบบ่อย ได้แก่ โรคติดต่อ เช่น เอชไอวี เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย ปัญหาอนามัยแม่และเด็กเช่นเด็กขาดสารอาหาร น้ำหนักตัวน้อย 

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ปัญหาสาธารณสุขแนวชายแดนเป็นปัญหาของทั้งภูมิภาค ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ 

ยุทธศาสตร์หนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ก็คือการพัฒนาศักยภาพการจัดการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานในฝั่งของชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

เพื่อให้เป็นที่พึ่งประชาชน  เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มักอยู่ห่างไกลความเจริญ  ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบการข้ามมาใช้บริการสาธารณสุขในประเทศไทย

ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ได้สร้างภาระหนัก ให้แก่สถานพยาบาลที่อยู่ตามแนวชายแดนของไทย  ไม่อาจปฏิเสธผู้มาใช้บริการด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมได้ ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้จำนวนมหาศาลจากบุคคลเหล่านี้ ส่งผลให้สถานพยาบาลบางแห่งประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินการคลังมาอย่างยาวนาน จึงต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน  ข้อมูลในปี 2557 มีมูลค่าสูงถึง 360 ล้านบาท

สำหรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะพัฒนาในรูปแบบของการตั้งสุขศาลา 

ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในฝั่งของประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงแรกนี้จะเริ่มที่ 3 ประเทศก่อนคือเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เนื่องจากบริการสาธารณสุขยังไม่ทั่วถึง ต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องเพื่อสร้างสุขศาลาใน 8 จังหวัด

ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย กาญจนบุรี อุบลราชธานี น่าน สระแก้ว และ ตราด โดยใช้งบประมาณพัฒนาจากกระทรวงการต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ แห่งละประมาณ 500,000 บาท โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งมีความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับท้องถิ่นอยู่แล้ว เป็นพี่เลี้ยงอบรมด้านวิชาการให้

ทั้งนี้ รูปแบบดังกล่าวได้ได้ทดลองนำร่องดำเนินการในชายแดนจังหวัดเมียวดี ซึ่งอยู่ติดกับอำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก

โดยโรงพยาบาลอุ้มผาง ได้ใช้เงินงบประมาณสนับสนุนประชาชนในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน  ก่อสร้าง “สุขศาลา” ในฝั่งของเมียนมาร์ ให้บริการสุขภาพขั้นพื้นฐานเช่นรักษาพยาบาลการเจ็บป่วยทั่วๆไป ฉีดยา ทำแผล ฉีดวัคซีน เป็นต้น

โดยพัฒนาความรู้อาสาสมัครและค่าตอบแทนคนในพื้นถิ่นในประเทศเมียนมาร์ พบว่า ให้ผลดี เป็นที่พึ่งประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านได้ในระดับหนึ่ง

ซึ่งในระยะยาวมุ่งเน้นให้ประเทศเพื่อนบ้านมีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานให้กับประชากรร่วมกัน มั่นใจว่าจะลดภาระเข้ามาใช้บริการสุขภาพในฝั่งไทย

เรื่องน่าสนใจ