เหงือกและฟันแข็งแรง ตามแบบฉบับ Gigi Hadid กับเคล็ดลับง่ายๆ ที่ทำตามได้ เพราะเป็นการกินอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท และเป็นโครงสร้างสำคัญของกระดูกและฟัน
ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อ และเป็นโครงสร้างสำคัญของกระดูกและฟันใกล้เคียงกับแคลเซียม แต่ถ้าหากร่างกายได้รับฟอสฟอรัสในปริมาณที่สูงหรือต่ำเกินไป อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงกลายเป็นปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้ เช่น ภาวะอ่อนเพลีย ปัญหาการนอนหลับ และปวดกระดูกได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะในแต่ละวันก็เพียงพอ และนี่คือ 7 อาหารที่มีฟอสฟอรัสที่ร่างกายต้องการ
กล้วยทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ ก็ล้วนมีฟอสฟอรัสที่สูงมาก ช่วยเสริมสร้างและบำรุงกระดูกให้แข็งแรง มีสารทริปโตเฟนที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนให้เป็นสารเซโรโตนิน ช่วยลดความเครียด อาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ บรรเทาอาการโรคอัลไซเมอร์ สำหรับผู้หญิงก่อนมีประจำเดือน การกินกล้วยหอมจะช่วยลดอาการหงุดหงิด ปวดท้อง ปวดศีรษะได้
เนื้อหมูและไก่เป็นอีกแหล่งสำคัญของฟอสฟอรัสและแร่ธาตุสำคัญอื่นๆ ซึ่งช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเสริมกล้ามเนื้อให้กับร่างกาย แต่อาหารประเภทเนื้อสัตว์มักมีไขมันไม่อิ่มตัวอยู่ด้วย อาจส่งผลให้คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีในร่างกายเพิ่มขึ้น จนเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ ดังนั้นควรเลือกเนื้อส่วนที่ไม่ติดหนังหรือมีไขมันต่ำแทน
นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต โดยเฉพาะแบบไขมันต่ำและไม่มีไขมัน จะมีปริมาณฟอสฟอรัสสูงกว่าแบบไขมันเต็ม ช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย มีโปรตีนสำคัญ ได้แก่ เคซิน โกลบูริน และอัลบูมิน ซึ่งมีประโยชน์ต่อการสร้างเม็ดเลือดและกระดูก แถมยังมีแคลเซียมสูง เสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ลดความดันโลหิตและการเกิดมะเร็งสำไส้ได้
ตระกูลมันฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นมันฝรั่ง มันหวาน มันเทศ เต็มไปด้วยสารอาหารต่างๆ เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และสังกะสี ซึ่งช่วยบำรุงกระดูกและฟันของเราให้แข็งแรง ยังช่วยเสริมสร้างการสร้างคอลลาเจนที่เป็นส่วนสำคัญบริเวณข้อต่อและกระดูกอ่อน นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินบี 6 ที่เป็นตัวช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ทำให้ผลิตสารสื่อประสาทได้อย่างเป็นปกติ
ธัญพืช เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน ข้าวบาร์เล่ย์มอลต์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ลูกเดือย งาดำ รวมถึงเครื่องดื่มธัญพืชต่างๆ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคสมอง ทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยปกป้องเซลล์ที่แข็งแรงจากความเสียหายต่างๆ ได้
นอกจากนี้ ในไข่แดงที่เรานิยมทานกันเป็นประจำนั้น ยังอุดมไปด้วยส่วนประกอบสำคัญอย่างโปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ และวิตามินต่างๆ อีกทั้งยังมีเลซิทิน ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ไขมันแตกตัวเป็นอนุภาคเล็กๆ จึงทำให้ร่างกายย่อยไขมันได้ง่ายขึ้น และยังช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไขมันอุดตัน นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงสมองและระบบประสาทได้อีกด้วย