ภาวะของ เหงื่อออกมาก ตอนหน้าร้อน หรือเมื่อต้องไปอยู่บริเวณกลางแสงแดดนั้น ก็เป็นเรื่องปกติ บางคนอาจจะมี เหงื่อออกมากผิดปกติ แค่ว่าถ้านั่งเฉยๆ อยู่ห้องแอร์ เหงื่อก็ไหลชื้นแฉะไปทั้งตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหงื่อออกที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ที่แย่ที่สุดก็คือภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติบริเวณใต้วงแขน ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอาการผิดปกติหรือเปล่า ลองมาอ่านกันค่ะ
ภาวะนี้เจอได้ 2-3% ของคนทั่วๆ ไป แต่มีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่ต้องพบแพทย์ เพราะควบคุมด้วยการใช้ยาดับกลิ่นระงับเหงื่อ หรือโรลออนปกติแล้วเอาไม่อยู่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีพิเศษๆ ซึ่งหากเหงื่อออกมากเฉพาะส่วน เช่น รักแร้ ฝ่ามือ-ฝ่าเท้า มักจะหาสาเหตุของโรคไม่เจอ บางคนก็บอกว่าถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ถ้ามีเหงื่อออกมากมายตลอดทั้งตัว บางครั้งต้องหาสาเหตุเหมือนกัน
เพราะบ่อยครั้งที่มีโรคภายในร่างกายที่พบได้บ่อยก็ ได้แก่ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ผู้หญิงใกล้วัยทอง หรือมีอาการสะบัดร้อน สะบัดหนาว อยู่ในห้องแอร์อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศา คนอื่นเขาใส่เสื้อหนาวนั่งทำงาน แต่ผู้หญิงใกล้วัยทองบางคนอาจจะเหงื่อแตกไปทั้งตัว บางคนมีการติดเชื้อผิดปกติบางอย่าง มีไข้สูงๆ ต่ำๆ เป็นบางช่วง เช่น เป็นวัณโรคแอบแฝง ก็ทำให้มีเหงื่อออกมากได้ รวมไปถึงมะเร็งบางชนิด ก็อาจจะทำให้คุณมีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ ซึ่งคงต้องสืบหาสาเหตุให้เจอ
สำหรับเหงื่อออกมากผิดปกติเฉพาะส่วน โดยทั่วๆ ไปแล้ว การรักษาง่ายๆ โดยใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมคลอไรด์ 10-15% ทาใต้วงแขน ก็มักจะช่วยระงับเหงื่อที่มากผิดปกติ รวมไปถึงช่วยดับกลิ่นได้ด้วย แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะหากใช้เปอร์เซ็นต์สูงเกินไป ก็มีผลให้เกิดการระคายเคืองได้ เนื่องจากผิวใต้วงแขนนั้น มักจะเป็นผิวอ่อน บอบบาง แต่พวกโรลออนดับกลิ่นตัวนั้น มักจะไม่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมคลอไรด์ จึงได้แค่ลดกลิ่น แต่ไม่ระงับเหงื่อ
หากใครเหงื่อออกมากที่มือและเท้า ทางการแพทย์จะใช้วิธีการทำไอออนโตโฟเรซิส (Iontophoresis) ให้แช่มือและเท้าในอ่างน้ำ พร้อมกับปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ จากเครื่องไอออนโต มันจะช่วยไประงับการทำงานของต่อมเหงื่อ โดยต้องนั่งแช่อยู่ประมาณ 10-20 นาที และก็ต้องทำกันหลายๆ ครั้ง อย่างน้อย 6-10 ครั้ง สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง กว่าจะรู้สึกเห็นผล และได้ผลแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แม้เมื่อภาวะเหงื่อออกตามมือตามเท้าดีขึ้นแล้ว ก็ยังจำเป็นที่จะต้องทำไอออนโตกันบ้าง ทุกๆ 1-2 สัปดาห์ เพราะอาจจะกลับมาเหงื่อมากผิดปกติอีก
นอกจากนั้น การใช้ยา ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เหงื่อออกมาก เพราะว่ามีการกระตุ้นให้ระบบประสาทอัตโนมัติหลั่งสารที่เรียกว่า อะซิติลโคลีน (Acetylcholine) จากปลายประสาทมากผิดปกติ จนไปกระตุ้นให้ต่อมเหงื่อทำงานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น แพทย์บางคนก็จะแนะนำให้ใช้ยาต้านกระแสประสาทที่เรียกว่า Anticholinergics ซึ่งควรจะใช้ในรายที่มีเหงื่อออกมากทั้งตัว เพราะถ้าหากเป็นเฉพาะที่รักแร้ แล้วต้องกินยา อาจมีผลเสียไปบล็อกกระแสประสาททั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการมึนงง การควบคุมระบบปัสสาวะผิดปกติ ปากแห้ง และอื่นๆ ตามมาได้ค่ะ
ล่าสุด ก็มีวิธีการรักษาด้วยสารโบทูลินัมท็อกซิน A ฉีดเข้าไปในบริเวณที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติ สารตัวนี้ก็คือเจ้าโบท็อกซ์นั่นเอง มันช่วยลดภาวะกลิ่นตัวไปด้วยพร้อมๆ กัน เนื่องจากเมื่อเหงื่อออกน้อย การหมักหมมของแบคทีเรียก็น้อย ก็จะทำให้กลิ่นตัวน้อยตามลงไปด้วย อาจมีข้อแทรกซ้อนได้บ้าง นั่นก็คือรอยฟกช้ำดำเขียวจากจุดที่ถูกเข็มฉีดยาจิ้ม และบางครั้งตัวยาโบท็อกซ์อาจจะซึมลึกไปมีผลถึงกล้ามเนื้อลึกๆ ใต้วงแขน จนบางคนรู้สึกชาไปบ้าง แต่ก็มักจะหายได้เองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
การดูแลสุขภาพร่างกายส่วนนี้ไว้บ้างเป็นเรื่องไม่ควรมองข้าม เพราะบางครั้งอาจหมายถึงโรคภัยไข้เจ็บแอบแฝง ซึ่งคงต้องปรึกษาแพทย์ดู เพื่อที่จะรู้ว่าคุณมีปัญหาโรคอื่นๆ หรือไม่ ถ้าหากแน่ใจว่าไม่มีปัญหาอื่นๆ แล้ว การดูแลรักษาสุขลักษณะส่วนตัว ก็จะช่วยให้คุณมีความมั่นใจในตัวเองที่ดี อย่างน้อยเริ่มต้นด้วยการอาบน้ำ ทำความสะอาดตัวเองให้ได้เป็นประจำ ใช้ยาระงับกลิ่น (Deodorant) และยาระงับเหงื่อ (Antiperspirants) เลือกเสื้อผ้าที่ใช้ผ้าฝ้าย จะช่วยให้เหงื่อที่ไหลออกมานั้น ระเหยหายไปได้เร็วกว่า ไม่ติดเหนียวอยู่ที่ตัวด้วยนะ 🙂
เนื้อหาโดย Dodeden.com