สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน วารสารการแพทย์แลนเซ็ท เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับผลของการสูบบุหรี่ พบว่า เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายและผู้หญิงที่สูบบุหรี่ทุกวันมีจำนวนลดลงในหลายประเทศ แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่และผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และอัตราการตายอาจจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตหลักๆ มีเป้าหมายในการเจาะกลุ่มตลาดใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ทั้งนี้ ตัวเลขจากโกลบอล เบอร์เดน ออฟ ดิซีส ระบุว่า ในการสำรวจเมื่อปี 2558 พบว่า แต่ละวันจะมี 1 ใน 4 ของผู้ชาย และ 1 ใน 20 ของผู้หญิงที่สูบบุหรี่ ซึ่งลดลงจากตัวเลขเมื่อ 25 ปีก่อนที่ตัวเลขของผู้ชายอยู่ที่ 1 ใน 3 และผู้หญิงเป็น 1 ใน 12
ขณะที่ในปี 2558 มีผู้เสียชีวิตอันเป็นผลมาจากบุหรี่ 6.4 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นจาก 25 ปีก่อนถึง 4.7 เปอร์เซ็นต์ อันเนื่องมาจากประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นด้วย และช่วงเดียวกันมีผู้สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 870 ล้านคนเป็นกว่า 930 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 7 เปอร์เซ็นต์
โดยการสูบบุหรี่ ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย จากผู้เสียชีวิต 10 รายทั่วโลก ครึ่งหนึ่งของผู้ที่เสียชีวิตจากบุหรี่ มาจาก 4 ประเทศรวมกัน คือ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ขณะที่จำนวนผู้สูบบุหรี่ในอินโดนีเซีย บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น บราซิล และเยอรมนี รวมกันทั้งหมด เท่ากับ 2 ใน 3 ของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก