เรียบเรียงข่าวโดย โดดเด่นดอทคอม
ภาพประกอบจาก Bloggang บรรณภรณ์
แม่บ้าน หรือ นักชิมอาหารทั้งหลาย คงจะคุ้นเคยกับ แกงส้ม ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่คนไทย ทุกภาคนิยมกิน ลักษณะของแกงเป็น แกงเผ็ดไม่ใส่กะทิมีสีแดงแสด
ทั้งนี้ รสชาติเฉพาะนอกจากเผ็ดแล้วมีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน โดยไม่มีรสใดนำ รสเปรี้ยวได้มาจากน้ำมะขามเปียก รสหวานจากน้ำตาลปี๊บ เพื่อให้ได้รสหวานนุ่มนวล
ส่วนรสเค็มจะใช้เกลือหรือน้ำปลาก็ได้ และเนื่องจากเป็นแกงพื้นบ้านที่นิยมกินกันทุกภาค จึงทำให้มีความแตกต่างของเครื่องปรุงและรสชาติไปตามความนิยม และวัตถุดิบของแต่ละภาค
สมัยอดีตแกงส้มส่วนใหญ่นิยมใช้ผักเพียงชนิดเดียว ส่วนเนื้อสัตว์นิยมใช้ปลาเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันได้มีการดัดแปลงใช้กุ้ง
โดยเนื้อสัตว์ที่ใส่ในแกงส้มส่วนหนึ่ง จะนำมาโขลกกับเครื่องแกงที่โขลกละเอียดแล้ว เพื่อให้น้ำแกงข้น
ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของแกงส้มให้มากขึ้น เครื่องแกงประกอบด้วยพริกแห้ง หอมแดง กะปิ เกลือ ถ้าจะให้มีรสเผ็ดเพิ่มขึ้นอาจใช้พริกขี้หนูสดสีแดง หรือพริกชี้ฟ้าสดสีแดงแทนพริกแห้งได้
คุณค่าทางโภชนาการของแกงส้มเมื่อกินกับข้าวสวย ๓ ทัพพี ให้พลังงาน ๓๒๙ กิโลแคลอรี ซึ่งน้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของปริมาณที่แนะนำให้กินใน ๑ วัน (แนะนำ ๑,๖๐๐-๒,๔๐๐ กิโลแคลอรี ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน)
และมีไขมันน้อยมาก โดยเป็นพลังงานที่มาจากไขมันเพียงร้อยละ ๕.๕ เท่านั้น (แนะนำพลังงานจากไขมันไม่ควรเกินร้อยละ ๓๐)
ดังนั้น แกงส้มจึงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลด หรือควบคุมน้ำหนักตัว ส่วนผู้ที่ต้องการพลังงานตามปกติ ควรกินอาหารอย่างอื่นเพิ่มด้วย ซึ่งเครื่องเคียงที่กินร่วมกับแกงส้ม
อาจเป็นปลาสลิดทอด หมูทอด หรือไข่เจียว อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีระดับคอเลสเทอรอลในเลือด สูงอาจต้องระวังในเรื่องปริมาณของไข่เจียวที่กิน เนื่องจากไข่ ๑ ฟอง มีคอเลสเทอรอลสูงถึง ๒๒๐ มิลลิกรัม
เมื่อดูคุณค่าโภชนาการอื่น แกงส้มพร้อมข้าวสวย ให้โปรตีนค่อนข้างดีคือ ประมาณร้อยละ ๓๗ ของปริมาณที่แนะนำให้กินต่อวัน ให้วิตามินซีสูงมาก (แนะนำให้ได้รับวิตามินซี ๖๐ มิลลิกรัมต่อวัน)
อย่างไรก็ตาม วิตามินซีที่ได้จากตารางมาจากการคำนวณอาหารสด ซึ่งวิตามินซีบางส่วนจะสูญเสียไปได้ในระหว่างการปรุงอาหาร
ส่วนแคลเซียมคิดเป็นร้อยละ ๑๒.๒ ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (๘๐๐ มิลลิกรัม) และโซเดียมซึ่งมาจากเกลือ กะปิ และน้ำปลาเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ ๒๘.๕ แนะนำไม่เกิน ๒,๔๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน)
ส่วนใยอาหารมีค่อนข้างน้อย คือ คิดเป็นร้อยละ ๖.๘ ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (๒๕ กรัม) เท่านั้น ดังนั้นจึงควรกินพืชผักและ ผลไม้อื่นๆ เพิ่มเติมพร้อมกับมื้ออาหารหรือระหว่างวันด้วย