11.jpg

44

ด้าน นพ.ชลทิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า และเลขาธิการศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าอาเซียน กล่าวถึงกรณีน้องหญิงพริตตี้ ตายสลดหลังผ่าตัดทำหน้าเรียวแล้วเกิดอาการแพ้ยาสลบจนช็อกดับ เหตุเกิดที่คลินิกดังย่านปากน้ำว่า คงสามารถให้เป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น เพราะไม่ทราบรายละเอียดของเคสที่ชัดเจน โดยต้องแยกเป็นประเด็น

คือ ประเด็นการผ่าตัด ประเด็นการใช้ยา และประเด็นทางสังคม โดยสำหรับกรณีการผ่าตัดศัลยกรรมใบหน้านั้นตามปกติถือเป็นการผ่าตัดเล็ก แต่ถ้าคนไข้ทำหลายๆ อย่างพร้อมกันก็ถือว่าเป็นการทำผ่าตัดใหญ่ ซึ่งใบหน้าถือว่าเป็นเนื้อเยื่อส่วนที่บอบบาง การผ่าตัดแพทย์จะแนะนำให้คนไข้ทำทีละรายการ เช่น ทำเฉพาะจมูก ปาก คาง หรือกราม จะไม่นิยมทำหลายๆ ส่วนพร้อมกัน เพราะเสี่ยงทำให้เกิดอาการบวมจนปิดทางเดินหายใจได้ ซึ่งในกรณีการผ่าตัดศัลยกรรมจำเป็นต้องอาศัยแพทย์ที่มีประสบการณ์ คือหากแพทย์มีชั่วโมงบินมากการผ่าตัดก็จะราบรื่นไม่บวมช้ำ แต่หากใช้เวลาในการผ่าตัดนานก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการบวมช้ำ นอกจากนี้ หลังการผ่าตัดโดยเฉพาะการผ่าตัดใหญ่ยังต้องมีระบบการดูแลให้ความช่วยเหลือ จึงควรทำในโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย

นพ.ชลทิศกล่าวว่า สำหรับประเด็นการ ดมยา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการโดยวิสัญญีแพทย์ ซึ่งจะควบคุมปริมาณยา ไปจนถึงดูแลคนไข้หากเกิดภาวะฉุกเฉิน โดยวิสัญญีแพทย์ จะต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือชีวิต ซึ่งประกอบด้วยหลายอย่าง อาทิ เครื่องมือสอดท่อช่วยหายใจ การให้ออกซิเจน การให้น้ำเกลือ ปรับความดัน เป็นต้น โดยวิสัญญีจะดูแลระหว่างการผ่าตัดไปจนถึงหลังการผ่าตัด ซึ่งต้องดูแลการเต้นของหัวใจ ความดัน จนกว่าคนไข้จะปลอดภัย สำหรับประเด็นการแพ้ยาสลบนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่หากมีวิสัญญีแพทย์อยู่ร่วมในการผ่าตัด โอกาสที่คนไข้จะเสียชีวิตปัจจุบันเกิดขึ้นได้ต่ำมาก เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบันสามารถช่วยกู้ชีพคนไข้ได้แม้ว่าจะแพ้ยา การมีวิสัญญีแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

“ประเด็นทางสังคม ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ปัจจุบันพบว่าธุรกิจความงาม การผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งประเทศไทยเติบโตอย่างผิดปกติ มีแพทย์ที่เข้ามาทำวิชานี้โดยไม่ทราบอะไรเลย บางครั้งไปชุบตัวเกาหลีเดือนสองเดือนก็กลับมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทั้งที่แพทย์ควรผ่านการฝึกอบรม ต้องได้วุฒิบัตรอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด ซึ่งจะใช้เวลาเรียน 3 ปี จะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญและแก้ปัญหาในการผ่าตัด ในการช่วยชีวิตคนไข้ได้ แพทย์ก็เปรียบเสมือนนักบิน หากมีชั่วโมงบินมากก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยสูงเช่นกัน” นพ.ชลทิศกล่าว

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว โดยนายแพทย์สาธารณสุขเชียงใหม่ได้พูดคุยกับญาติผู้เสียชีวิตเพื่อขอข้อมูลเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดย สบส.จะได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการ เครื่องมืออุปกรณ์ในการรักษาและช่วยชีวิต แพทย์ผู้ให้บริการ ว่าได้ดำเนินการตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งการผ่าตัดไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนก็ต้องดำเนินการตามมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก สนุกดอทคอม ข่าวจากครอบครัวข่าวเช้า

เรื่องน่าสนใจ