นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ประกอบการและผู้ขับรถแท็กซี่สุวรรณภูมิแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชนว่า
การปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ไม่เป็นธรรมกับรถแท็กซี่ที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพราะกำหนดให้ต้องใช้มิเตอร์เท่านั้น โดยห้ามมีการจ้างเหมาในกรณีวิ่งระยะทางไกล
รวมทั้งไม่มีการเพิ่มค่าบริการด้านสัมภาระผู้โดยสารนั้น ทาง กรมการขนส่งทางบก ระบุว่าอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ที่ปรับในแต่ละครั้งได้มีการพิจารณาด้วยการวิเคราะห์ต้นทุนที่แท้จริง
โดยเฉพาะการปรับอัตราค่าโดยสารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ซึ่งคณะทำงาน ได้มีการวิเคราะห์ตามสภาพที่เหมาะสมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
รวมทั้งยังมีการวิเคราะห์จากต้นทุนการเดินรถแท็กซี่ที่เหมาะสมภายใต้การเดินรถ 300 กิโลเมตรต่อกะ และการวิ่งเที่ยวเปล่าของผู้ขับรถ 40 % ซึ่งใช้เชื้อเพลิง CNG
และยังคงให้เรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่มจากมาตรค่าโดยสารในกรณีที่ใช้บริการจากท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ค่าเซอร์ชาร์จ) อีก 50 บาท เท่าเดิมไม่ได้ปรับขึ้นเป็น 100 บาทตามที่มีกระแสข่าวในสื่อออนไลน์ แต่อย่างใด
สำหรับกรณีที่ไม่ให้มีการจ้างเหมาในระยะทางไกลนั้น เนื่องจากอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันได้มีการคำนวณปรับค่าโดยสารตามระยะทางให้อยู่แล้ว การกำหนดให้ใช้มิเตอร์ทุกกรณีจะเป็นการสร้างมาตรฐานการใช้บริการตามหลักสากล ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก
ทั้งนี้ได้คำนวณระยะทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมายังบริเวณพื้นที่ชั้นใน ซึ่งมักมีการใช้บริการจะอยู่ในระยะทางเฉลี่ยประมาณ 30 กิโลเมตร
ซึ่งในระยะทางดังกล่าวก็ได้มีการปรับอัตราค่าโดยสารใหม่ให้สูงขึ้นจากเดิมเฉลี่ยประมาณกิโลเมตรละ 1 บาท และในระยะทางที่ไกลขึ้นก็มีการปรับสูงขึ้นด้วย
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ได้มีสถานีโทรทัศน์บางช่อง รายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกระทรวงคมนาคม มีมติให้รถแท็กซี่ขนาดใหญ่ (เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปรับขึ้นค่าบริการ (เซอร์วิสชาร์จ)
จาก 50 บาท เป็น 100 บาท ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง และเว็บท่าบางแห่งได้คัดลอกข่าวลงในเว็บไซต์ตัวเอง รวมทั้งเฟซบุ๊ก “เสียงจากแท็กซี่” ได้เอาไปขยายผลด้วย