ที่มา: ข่าวสด

หลังธนาคารแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์ธนบัตรชนิด 1,000 บาท แบบใหม่ มีกำหนดออกใช้ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2558 ได้มีกลุ่มคนที่ไม่หวังดี ผลิตธนบัตรปลอม ชนิด 1,000 บาทนี้ ออกมาหลอกซื้อสินค้าตามห้างร้านต่างๆทั่วไป โดยอาศัยจังหวะที่ทางร้านมีผู้คนพลุกพล่าน และใช้ธนบัตรใบละ 1,000 บาท 1 ใบ เข้าซื้อเพื่อหวังเงินทอน เจ้าของร้านมาทราบภายหลัง ได้แจ้งให้กลุ่มเพื่อนๆร้านค้าในย่านถนนเศรษฐกิจการค้าหลัก ตัวเมืองระนองทราบ คาดว่าจะมีการนำออกมาใช้อีก หลังหลอกตุ๋น ร้านค้าได้ไปหลายราย แต่ไม่เป็นข่าวก่อนหน้านี้

14519629041451963110l

เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 5 ม.ค. ผู้สื่อข่าว ข่าวสด ได้เดินทางไปที่บริเวณสามแยกชุมชนตลาดพม่า ถนนเรืองราษฎร์ ต.เขานิเวศน์ อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ที่ตั้งของร้านน่ำเซ่งฮวด เลขที่ 341/3 ถ.เรืองราษฎร์ ต.เขานิเวศน์ อ.เมืองระนอง ร้านจำหน่ายขนมปังท้องถิ่นและขนมเค้กสำหรับลูกค้าทั่วไป และพบกับ นายรัฐพงษ์ เจียมจิรอานนท์ หรือ โกเจี่ย อายุ 58 ปี ผู้จัดการร้านขนมปังน่ำเซ่งฮวด ที่นำธนบัตรปลอม ใบละ 1,000 บาท ที่คล้ายกับธนบัตรจริง ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์ธนบัตร ออกใช้หมุนเวียนในท้องตลาด ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ออกมาโชว์ความแตกต่าง ระหว่างฉบับปลอมและฉบับจริง

ซึ่งโกเจี่ย กล่าวว่า เมื่อเย็นวานที่ผ่านมา ขณะลูกค้า จำนวน 3-4 ราย เข้ามารุมซื้อขนมเค้กภายในร้านหลายราย และจ่ายเป็นธนบัตรชนิดใหม่ ฉบับละ 1,000 บาท 1 ราย ซึ่งทางร้านก็ไม่ค่อยได้เห็นเพราะเป็นธนบัตรใหม่ เมื่อจับเนื้อก็พบเป็นกระดาษใหม่ มันลื่น จะมีสีออกม่วงแกมน้ำตาล สีก็ใกล้เคียง ฉบับจริงจะมีน้ำตาล เพียงแต่ไม่ทันได้สังเกต แถบฟอยล์ 3 มิติ ที่ผนึกไว้ตามแนวตั้งในแถบสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ของปลอมจะเป็นการถ่ายเอกสารมาตบตาเท่านั้นเอง ไม่มีแถบฟอยล์สามมิติ ที่จะสะท้อนแวววาว เหมือนฉบับจริง และติดแถบฟอยล์สามมิติน้อยด้วย

14519629041451963147l

เมื่อเอาแบงค์ธนบัตรเดิม ฉบับเก่าที่ใช้มาสิบกว่าปีแล้ว ด้านหน้าที่รูปพระบรมสาทิสลักษณ์ แถบฟอยล์ 3 มิติ ที่ผนึกไว้ตามแนวตั้งในแถบมาตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไว้ที่ด้านซ้ายตราครุฑลงมาจะแจ่มชัดมาก มองเห็นได้ง่าย ส่วนด้านแถบสี่เหลี่ยมเคลื่อนไหวสลับสี ฝังในเนื้อกระดาษ มีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะเมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงจะเห็นสี่เหลี่ยมขนาดเล็กสีม่วงเคลื่อนไหว และจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อเปลี่ยนมุมมอง ก็คาดไว้เพียงสี่จุดขนาดเล็ก ส่วนธนบัตรปลอม ก็จะมีสี่เหลียม ตำแหน่งเดียวกัน แต่ไม่มีการสะท้อนของแถบสี

ส่วนการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบง่ายๆ ไม่ต้องเกรงใจลูกค้า ให้ใช้หยดน้ำลูบที่เนื้อธนบัตรปลอม จะเห็นสีที่เคลือบอยู่ละลายมากับน้ำ สีจะออกมาทันที จะเห็นชัดเจน สรุปข้อผิดพลาด คือ 1.แบงค์ใหม่ไม่ค่อยได้ผ่านตา เพราะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

ด้านเจ๊เกียง นางศิริรัตน์ วงศ์พันธุ์ อายุ 60 ปี พี่สาวของโกเจี่ย ที่เป็นเชฟแต่งหน้าทำขนมเค้ก กล่าวว่า ไม่เป็นไร 10 กว่าปีก็เคยเจอแบงค์ร้อยปลอมมาครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ฝากเตือนคนอาชีพค้าขายให้ระวังหน่อย คิดว่ากลุ่มผู้ที่ไม่หวังดี คาดว่าจะกลับมาใช้ธนบัตรปลอมอีก ไม่ใช่เพียงแค่นี้ และมาแบบตั้งใจโกง

14519629041451963165l

ธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท จริง จะมีขนาดกว้าง 72 มิลลิเมตร และยาว 162 มิลลิเมตร สีโดยรวมเป็นสีน้ำตาล ส่วนธนบัตรปลอม ใช้ไม้บรรทัดวัดได้ มีขนาดกว้าง 70 มิลลิเมตร และยาว เพียง 158 มิลลิเมตร สีโดยรวมจะเข้มเป็นสี ม่วงอ่อน และฉบับปลอมจะระบุตัวเลข 2 A 6969166

ส่วนอีกราย นางฐิติวรดา เครือนาค กล่าวว่า ที่ร้านเจอแล้ว ผู้ชายมากับเด็กผู้หญิง 2 คน มาซื้อดอกรักพาสติก 20 บาท ให้แบงค์ 1,000 บาท จับแบงค์แล้วไม่ใช่ ดูแถบคาดครุฑ ปีกหายไป 1 ข้าง แถบก็ลอกไม่แจ่มบอกคนที่นำมาใช้ว่าปลอม เขาไม่ตกใจเลย เราไม่เอะใจ ลูกค้าเยอะเลยไม่สนใจ ทราบข่าวตอนนี้แล้วตกใจ น่าจะเรียกตำรวจจับ

หากทางธนาครแห่งประเทศไทย บอกว่าได้พัฒนารูปแบบธนบัตรฉบับละพัน ให้สวยงาม และมีเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชน ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน รวมถึงผู้บกพร่องทางสายตาสามารถตรวจสอบได้ง่ายแล้ว แต่กลุ่มร้านค้าในจังหวัดระนอง อาจไม่เชื่อ เพราะเจอธนบัตรปลอม ที่เพียงถ่ายเอกสารสีมาตุ๋นอย่างน่าเจ็บใจ

และหากธนบัตรเอกสารเหล่านี้ไปติดอยู่กับมือแม่ค้าพ่อค้าตามตลาดนัด ที่มีทั้งพ่อค้าแม่ค้าชาวเมียนมา ขายผักสดขายปลา แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ที่แน่ๆปัญหาความเดือดร้อนในการชำระหนี้เกิดขึ้นโดยทันที เพราะเป็นเงินหมุนเวียนซื้อมาขายไป และอาจจะโดนข้อหาปลอมแปลมธนบัตรหากนำไปซื้อขายสินค้าต่อ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงไปตรวจสอบแหล่งที่มา และกลุ่มบุคคลที่นำธนบัตรปลอมมาใช้ ในเมืองชายแดนด้านจังหวัดระนอง หรือใครที่มีธนบัตรปลอมให้เข้าร้องเรียนได้ที่ สถานีตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบโดยทันที

เรื่องน่าสนใจ