นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมการเสริมสวยและการโฆษณา ว่า ปัจจุบันมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการทำศัลยกรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งทำออกมาแล้วมีปัญหา บางรายถึงกับต้องฆ่าตัวตาย

11.jpg

แต่ต้องยอมรับว่าการทำศัลยกรรมเพื่อเสริมสวยหรือเสริมความงามยังคงเป็นกระแสที่มาแรง แพทยสภาจึงต้องหามาตรการเพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย

ซึ่งจากการประชุมหารือในครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าจะออกประกาศข้อบังคับคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ชัดเจนว่าควรเป็นอย่างไร ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรอะไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ได้ร่างประกาศเสร็จสิ้นแล้ว เตรียมที่จะเสนอคณะกรรมการแพทยสภา และระดับอาเซียนในเวทีการประชุมไทยแลนด์ เมดิคัล เอกซ์โป วันที่ 7 พ.ย.นี้ ซึ่งจะมีกลุ่มประเทศอาเซียนและเกาหลีเข้าร่วม คาดว่าจะสามารถออกประกาศได้ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการกลางรับรองหลักสูตรการประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านการเสริมสวยขึ้นมา เพื่อพิจารณาหลักสูตรการอบรมการเสริมสวยในด้านต่างๆ ว่าผ่านมาตรฐานของแพทยสภาหรือไม่ โดยจะพิจารณาทั้งจากเครื่องมือ อาจารย์ที่สอน สถานที่อบรม หลักสูตรมีการสอนอะไรบ้าง และจัดโดยใคร รวมไปถึงจัดทำประกาศย่อยให้ชัดเจนว่า การเสริมสวยเฉพาะด้านจะต้องใช้เวลาในการอบรมเท่าใด

เช่น ทำจมูก ทำตา อย่างน้อย 6 เดือน ฉีดฟิลเลอร์หรือโบท็อกซ์อาจใช้เวลาน้อยกว่านี้ ที่สำคัญต้องผ่านการแก้เคสเท่าไร แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้หรือไม่ เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถออกประกาศหลักสูตรการฉีดเฟอร์ได้เป็นหลักสูตรแรก โดยเฉพาะการฉีดที่จมูก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ห้าม แต่เพราะผู้ฉีดไม่เชี่ยวชาญ จึงทำให้เกิดการอุดตันในเลือดและตาบอดในที่สุด ทางแก้ก็คือต้องอบรมให้แพทย์มีความเชี่ยวชาญ

 “ปัจจุบันผู้ดูแลรักษาด้านความงามเป็นแพทย์ทั่วไปจำนวนมาก 70-80% ที่เหลือเป็นแพทย์เฉพาะทางทั้งด้าน หู คอ จมูก ผิวหนัง หรือศัลยศาสตร์ตกแต่ง (พลาสติก) ซึ่งหลายฝ่ายห่วงว่าแพทย์ที่จะมาดูแลเรื่องศัลยกรรมตกแต่งความงามควรเป็นแพทย์เฉพาะทางที่มีการฝึกเรื่องของการผ่าตัดนั้น

อยากชี้แจงว่าความผิดพลาดจากการเสริมความงามไม่ได้มาจากแพทย์ทั่วไปทั้งหมด แต่มาจากแพทย์เฉพาะทางส่วนอื่นๆ ด้วย แพทยสภาจึงต้องออกประกาศให้แพทย์ไม่ว่าสาขาใดก็ตามที่จะมาประกอบวิชาชีพด้านความสวยงามควรผ่านการฝึกอบรม เพื่อเป็นแต้มบวกว่าผ่านการอบรมที่เป็นมาตรฐานจริง เป็นทางเลือกให้กับประชาชน” เลขาธิการแพทยสภา กล่าว

ส่วนแพทย์ที่ไม่อบรมนั้นก็ไม่ได้กีดกันว่าห้ามทำ เพราะไม่มีกฎหมายใดห้ามหรือระบุเฉพาะว่าต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาใดสาขาหนึ่งจึงจะสามารถทำได้ และไม่สามารถเอาผิดได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นการบังคับ เพียงแต่แพทย์ที่ไม่ผ่านการอบรมก็จะไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งสุดท้ายประชาชนก็จะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกใช้บริการแพทย์ที่ไม่ผ่านการรับรองหรือไม่

แต่หากแพทย์ที่ไม่ผ่านการอบรมให้บริการแล้วเกิดความเสียหายขึ้น เมื่อมีการฟ้องร้องเป็นคดีความอาจได้รับโทษมากกว่าแพทย์ที่ผ่านการอบรม แต่ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณา ส่วนที่อ้างว่าผ่านการอบรมจากต่างประเทศนั้น แพทยสภาไม่ยอมรับเด็ดขาด เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าหลักสูตรนั้นมีการสอนอะไร เนื้อหาเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินหน้าประกาศดังกล่าวมาจนถึงจุดหนึ่ง อาจจะ 5 ปี หรือ 10 ปี อาจมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าแพทย์ที่จะทำด้านศัลยกรรมเสริมสวยต้องเรียนจบกี่ปี จึงจะสามารถทำได้ รวมไปถึงอาจมีการตั้งเป็นราชวิทยาลัยโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องอาศัยอาจารย์แต่ละราชวิทยาลัยมาช่วยเหลือ

เมื่อถามถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศควบคุมการขายโบท็อกซ์ ให้เฉพาะสถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางประจำอยู่เท่านั้น แต่แพทยสภายังไม่กำหนดเกณฑ์ที่แน่ชัดว่าแพทย์รายใดคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้น นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางไม่มี จึงต้องอาศัยว่าแพทย์ควรผ่านหลักสูตรใดบ้าง แต่ประกาศดังกล่าวไม่เป็นการบังคับ ดังนั้น ก็ยังสามารถขายให้สถานพยาบาลที่มีแพทย์ทั่วไปที่ไม่ผ่านการอบรมได้

ที่มา ผู้จัดการ

เรื่องน่าสนใจ

nose plastic surgery preparation

แพทยสภา เผยภาวะแพ้ยาสลบเกิดน้อย คาดเดาไม่ได้ แต่อันตรายหากไม่มีทีมและอุปกรณ์กู้ชีพ จ่อออกประกาศคุมศัลยกรรมเสริมสวย และเชิญแพทย์ในกลุ่มอาเซียนและเกาหลีใต้ร่วมกำหนดมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

(เพิ่มเติม…)

เรื่องน่าสนใจ