dr.sompob1
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงมาตรการในการควบคุมแพทย์ในคลินิกเสริมความงาม หรือคลินิกต่างๆ ภายหลังพบกรณีพบศพหญิงชาวอังกฤษวัย 24 ปี ที่เสียชีวิตระหว่างการให้ยาสลบในการทำศัลยกรรม ว่า  สำหรับแพทย์ที่ดำเนินการทั้ง 2 ท่าน ทั้งที่เป็นเจ้าของคลินิก    

ซึ่งเป็นเพียงแพทย์ทั่วไป แต่กลับเป็นผู้ทำหัตถการเอง  คือ การใช้ยานอนหลับ ก่อนทำศัลยกรรม   ส่วนแพทย์อีกราย ซึ่งเป็นแพทย์ศัลยกรรมเฉพาะทาง  ถือเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการทำหัตถการ กลับปล่อยให้บุคคลที่ไม่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการแทน จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  โดยแพทย์ทั้งสองราย แพทยสภาจะนำเข้าพิจารณาด้านจริยธรรม โดยจะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้  อย่างไรก็ตาม ส่วนมาตรการในการควบคุมแพทย์นั้น จริงๆ มีข้อบังคับในการดำเนินการอยู่แล้ว ในเรื่องการผ่าตัด การรักษาคนไข้ รวมทั้งเครื่องมือช่วยชีวิตกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
    
“ประเด็น คือ ในเรื่องของการใช้ยานอนหลับนั้น จะต้องมีเกณฑ์หรือข้อปฏิบัติสำหรับแพทย์หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการพูดคุยกันในที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา และจะหารือความเป็นไปได้ว่าจะหารือร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร  ส่วนเรื่องการผ่าตัดเสริมความงาม หากไม่ใช่ผ่าตัดยากๆ จริงๆ แพทย์ที่จบแพทยศาสตร์บัณฑิตก็สามารถทำได้ แต่หากเป็นการผ่าตัดยาก หรือผ่าตัดโรครุนแรงก็จะต้องมีการกำหนดแพทย์เฉพาะทาง” นพ.สัมพันธ์ กล่าว
     
แหล่งข่าวกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)  กล่าวถึงมาตรการตรวจสอบเอาผิดคลินิกศัลยกรรมเสริมความงามต่างๆ ว่า  โดยปกติการตรวจสอบคลินิกศัลยกรรมเสริมความงาม หรือแม้แต่คลินิกทั่วไปนั้น จะตรวจสอบหลักๆ คือ 1.คลินิกดังกล่าวขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ เป็นคลินิกเถื่อนหรือไม่ และมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ ซึ่งหากมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง จะผิดพ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 มาตรา 38 ที่มีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หรือ กระทำอันเป็นเท็จ จะมี โทษปรับ 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ ก็จะตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวได้รับมาตรฐานหรือไม่ อย่างหากต้องมีการผ่าตัด จะต้องมีเครื่องมือช่วยชีวิต แต่หากไม่มีก็ถือว่าผิด เหมือนกรณีของหญิงชาวอังกฤษวัย 24 ปี เสียชีวิตระหว่างการให้ยาสลบในการทำศัลยกรรม
      
“ กรณีดังกล่าวถือว่าผิดใน 2 ประเด็น คือ 1.แพทย์เจ้าของคลินิคได้ขอใบอนุญาตเป็นสถานบริการศัลยกรรมเสริมความงาม แต่ตัวแพทย์ผู้ทำศัลยกรรม ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางคือไม่ได้มีวุฒิบัตรทางด้านนี้ แต่เป็นวุฒิบัตรประกอบเวชกรรมทั่วไป ซึ่งผิดตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล ม. 34 (2) มีโทษทั้งจำทั้งปรับ   2. สถานที่ คือ คลินิกแห่งนี้ขอเปิดเป็นคลินิกผู้ป่วยนอก ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน แต่กลับให้บริการ ตั้งแต่ 09.00 – 20.00 น.ซึ่งเกินเวลาที่กำหนด ถือเป็นคลินิกเถื่อนมีความผิดตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล 2541 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้ง ยังพบว่าเป็นคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐานวิชาชีพ จึงต้องสั่งปิดทันที 60 วันตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล มาตรา 60 ซึ่งโทษในการปิดคลินิกยอมรับว่ามีโทษน้อย ขณะนี้ในสบส.ก็มีความพยายามในการเพิ่มโทษ แต่ปรากฏว่าเรื่องยังเงียบอยู่” แหล่งข่าวฯกล่าว
ขอบคุณที่มา มติชน
ป้ายกำกับ:

เรื่องน่าสนใจ