แพทย์ชี้มะเร็งเต้านมจากพันธุกรรม มีปัจจัยเสี่ยงที่จะได้รับการถ่ายทอดแน่นอน ทั้งมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ การผ่าตัดออกขณะยังไม่เป็นโรค ช่วยลดความเสี่ยงและมีเทคนิคทำศัลยกรรมให้คล้ายเดิมหรือสวยกว่าเดิมได้ ด้าน ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยมะเร็งเต้านมในหญิงไทย มากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับ และมะเร็งปากมดลูก พบเสียชีวิต 12 คนต่อวัน ย้ำขนาดของทรวงอกไม่ได้มีผลต่อมะเร็ง
นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อุปนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย แพทย์หน่วยมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายแรง เป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตได้ไม่เหมือนโรคอื่น กรณีของแองเจลินา โจลี การตัดสินใจรักษาโดยการตัดเต้านมทิ้งเพื่อรักษาชีวิตไว้ในอนาคต ถือเป็นวิธีมาตรฐาน เพราะเจ้าตัวมีปัจจัยความเสี่ยงจากพันธุกรรม
“ปัจจัยเสี่ยงมีหลายอย่าง แต่ลักษณะที่เรียกว่าเป็นแน่นอนคือเรื่องพันธุกรรม ซึ่งโรคที่แองเจลินา โจลี เป็นคือพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก จึงมีความเสี่ยงเป็นทั้งมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ได้” นพ.วิโรจน์ กล่าวและว่า การผ่าตัดหน้าอกออกไป นอกจากเป็นวิธีช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมแล้ว ด้วยวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ยังสามารถช่วยศัลยกรรมตกแต่งให้แองเจลิ นากลับมาใกล้เคียงหรือสวยงามกว่าเดิม หรือแม้กระทั่งในรายอื่นๆ ที่ป่วยแล้ว หลังการผ่าตัดก็สามารถดูแลให้มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตปกติได้
“ของที่เขาจะผ่าเป็นการผ่าขณะยังไม่เป็นโรค เพียงแต่เราจะเอาเนื้อเต้านมออกทั้งหมด แล้วทำศัลยกรรมพลาสติกได้ สามารถเสริมตกแต่งให้มีรูปร่างคงคล้ายเดิมหรือบางทีอาจสวยงามกว่าเดิม โรคมะเร็งเต้านมสามารถเก็บเนื้อเต้านมได้ จะตัดออกทั้งเต้า หรือใช้เทคนิคตัดออกเฉพาะก้อน หลังจากนั้นทำศัลยกรรมพลาสติกใช้เนื้อส่วนอื่นของร่างกายมาแต่งเพิ่มหรือใช้ ตัวสังเคราะห์มาเสริมได้” อุปนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าว
สำหรับหญิงไทยมะเร็งเต้านม นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า มีสถิติการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากปัจจัยเรื่องพันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติเป็นแล้ว สาเหตุอื่นยังไม่ชัดเจน แต่หญิงโสดมีโอกาสมากกว่าหญิงที่แต่งงานมีครอบครัวโดยเฉพาะในหญิงอายุ 45-50 ปี พบปัจจัยความเสี่ยงสูง คำแนะนำคือให้ใช้มือในการตรวจคลำหน้าอกสม่ำเสมอและอย่าอายที่จะไปตรวจกับหมอ ทำการตรวจแมมโมแกรม หรือเอกซเรย์เต้านม และหากตรวจพบเร็ว สามารถรักษาให้หายได้
นพ.ธีระวุฒิ คูหะเปรมะ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถงสถานการณ์มะเร็งเต้านมในไทยว่า พบมีเพศหญิงป่วยมะเร็งเต้านมปีละ 13,000 คน และเสียชีวิตปีละ 4,600 คน โดยเฉลี่ยเสียชีวิต 12 คนต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิดโรคและอัตราการเท่าเฉลี่ยร้อยละ 35 สำหรับประเทศอัตราการเสียชีวิตของโรคมะเร็งเต้านมยังอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากมะเร็งตับที่เป็นการเสียชีวิตอันดับ 1 ที่มีอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 90 และอันดับ 2 มะเร็งปากมดลูก ที่มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 50
นพ.ธีระวุฒิ กล่าวว่า อัตราการป่วยของมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่พบในหญิงอายุ 40-45 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มอุบัติการณ์ของโรคอยู่ที่ 20 ต่อแสนประชากร สาเหตุของการเกิดโรค เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) มากเกินไป ไม่สมดุล การรับประทานฮอร์โมนมากเกินไป การรับประทานยาคุมกำเนิดตั้งแต่เด็ก การที่มีประจำเดือนอายุน้อยกว่า 12 ปี และหมดก่อน 50 ปี ถือว่ามีภาวะเสี่ยง นอกจากนี้ยังพบภาวะเสี่ยงจากพันธุกรรม แต่สำหรับสาเหตุของโรคจากพันธุกรรมน้อยมาก เมื่อเทียบกับแถบยุโรป
นพ.ธีระวุฒิ ยังกล่าวว่า ขนาดของเต้านมไม่ได้มีผลที่ทำให้เกิดโรค เพียงแต่ยากแก่การตรวจคัดกรอง ในต่างประเทศใช้การตรวจด้วยเครื่องแทน การป้องกันมะเร็งเต้านมสามารถทำได้โดยการตรวจคัดคลำเต้านม ออกกำลังกาย ลดความอ้วน หรืองดการรับประทานอาหารมันจัด หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ ควรให้บุตรดื่มนมพบว่าสามารถช่วยอัตราการเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม ส่วนการรักษามีทั้งการผ่าตัดชิ้นเนื้อที่มีความเสี่ยงและฉายแสง .
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย